กุ้งฝอย


เทคโนโลยีการประมง
ธงชัย พุ่มพวง

 กุ้ง ฝอย เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก พบได้ทั่วไปในภูมิภาคของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เช่น กุ้งเต้น ทอดมันกุ้ง กุ้งฝอยทอด กุ้งฝอยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้ง โปรตีนและแคลเซียม ปัจจุบันนี้กุ้งฝอยเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำธรรมชาติ บางครั้งใช้กุ้งฝอยเป็นอาหารเลี้ยงอนุบาลลูกปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาบู่ ปลาช่อน ปลากราย และปลาสวยงาม ทำให้เกิดความไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้น ขณะนี้ราคากุ้งฝอยในท้องตลาดตั้งแต่กิโลกรัมละ 300-400 บาท มีเกษตรกรบางรายนำมาเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย ผลปรากฏว่า อัตราการรอดต่ำ เลี้ยงอย่างหนาแน่นไม่ได้ และอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน



ดร.บัญชา ทองมี อาจารย์ประจำคณะประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าว่า ด้วยเหตุผลที่กุ้งฝอยเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง มีราคาแพง และยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ทำการศึกษาวิจัยการเลี้ยงกุ้งฝอยในเชิงการค้า โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ชาติ (สวทช.) จนประสบผลสำเร็จ สามารถเผยแพร่แก่เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพได้
ข้อมูลทั่วไป

กุ้ง ฝอย เป็นกุ้งน้ำจืด ชอบซ่อนตัวอยู่ตามใต้ก้อนหินหรือเกาะตามพรรณไม้ ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือไหลเอื่อยๆ น้ำขุ่น ลึกไม่เกิน 1 เมตร มีอินทรียวัตถุทับถมกัน กุ้งฝอยเพศเมียจะเริ่มมีไข่และผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 60 วันขึ้นไป จะสร้างไข่เก็บไว้ในถุงเก็บไข่ กุ้งเพศผู้จะพยายามติดตามกุ้งเพศเมียตลอดเวลา หลังจากกุ้งเพศเมียลอกคราบภายใน 3-6 ชั่วโมง ขณะที่เปลือกของกุ้งเพศเมียยังอ่อนอยู่จะมีการผสมพันธุ์กัน โดยกุ้งเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อที่อยู่ในถุงเก็บน้ำเชื้อที่อยู่บริเวณโคนขา ช่วงที่ 5 ปล่อยน้ำเชื้อในถุงเก็บน้ำเชื้อเพศเมียเพื่อผสมกับไข่ ไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนไปอยู่ในส่วนล่างของท้องบริเวณขาว่ายน้ำ กุ้งเพศเมียจะพัดโบกขาว่ายน้ำตลอดเวลา เพื่อให้ไข่ได้รับออกซิเจน แม่กุ้งฝอยขนาดยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร จะมีไข่ประมาณ 200-250 ฟอง หลังจากผสมพันธุ์แล้ว 3 วัน ไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนและสีเหลือง ต่อมาอีก 7-9 วัน จะมองเห็นตาของตัวอ่อนอย่างชัดเจน หลังจากนั้นไข่ในท้องแม่กุ้งฝอย จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและฟักออกมาเป็นตัวเมื่ออายุ 21-25 วัน


วิธีการเพาะกุ้งฝอย
วิธี การเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย สามารถเพาะเลี้ยงได้ 2 วิธี คือ การนำพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ประมาณ 50 ตัว ปล่อยลงในบ่อเลี้ยงที่มีกระชังภายในบ่อ เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์กุ้งฝอยผสมพันธุ์กันเอง วิธีนี้ใช้เวลา 2-3 เดือน แต่จะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 20-30% เนื่องจากกุ้งมีขนาดที่ต่างกัน กุ้งจะกินกันเอง เพราะมีทั้งกุ้งฝอยขนาดใหญ่และขนาดเล็กปะปนกัน อีกวิธีหนึ่งคือ การคัดแม่พันธุ์ที่มีไข่แล้วมาขยายพันธุ์ มีอัตราการรอดชีวิต 80% มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงขอแนะนำเกษตรกรใช้วิธีนี้ เนื่องจากจะได้กุ้งฝอยที่มีขนาดเดียวกัน การปฏิบัติดูแลรักษาง่าย สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ การลงทุนต่ำ สามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี

การเพาะเลี้ยง
เริ่ม ต้นจากการรวบรวมกุ้งเพศเมียจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวนประมาณ 80-100 ตัว นำมาพักไว้ในกระชังอย่างน้อย 1 คืน คัดเลือกเฉพาะกุ้งเพศเมียที่มีไข่แก่ มองเห็นตาของลูกกุ้งในท้อง เพาะฟักในตะแกรงที่แขวนไว้ในกระชังผ้า ขนาด 1x1x1 เมตร ในบ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน ให้อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 33% ให้อาหารประมาณ 5% ของน้ำหนักตัว แบ่งให้ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ประมาณ 3-4 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัว แยกแม่กุ้งออกจากกระชัง แล้วคัดลูกกุ้งที่มีขนาดเดียวกัน เพื่อสะดวกในการจัดการเพาะเลี้ยง นำลูกกุ้งที่ได้ไปอนุบาลในกระชังผ้าโอล่อนแก้ว ปริมาณ 50,000 ตัว ในบ่อขนาด 1x1x1 เมตร สัปดาห์แรก ให้ไข่แดงต้มสุกเป็นอาหาร สัปดาห์ที่ 2-4 ใช้ไรน้ำจืดขนาดเล็กเป็นอาหาร จากนั้นจึงให้อาหารสำเร็จรูปชนิดผง เป็นอาหารที่มีโปรตีน 40% ให้อาหารในปริมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ระยะนี้ต้องระมัดระวังตาข่ายไม่ให้อุดตัน ควรใช้แปรงขนาดเล็กขนอ่อนทำความสะอาดบ่อยครั้ง ใช้เวลาอนุบาลเป็นเวลา 1 เดือน จึงนำไปเลี้ยงในกระชังในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ได้

การเตรียมบ่อ
ทำ ความสะอาดบ่อด้วยปูนขาว ตากทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ กั้นคอกล้อมบ่อด้วยอวนพลาสติคสีฟ้าเพื่อป้องกันศัตรู เติมน้ำในบ่อโดยผ่านการกรองด้วยผ้าตาถี่ เพื่อป้องกันไข่ปลาและลูกปลาขนาดเล็กๆ เล็ดลอดลงในบ่อกุ้ง เติมน้ำสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ อัตรา 60-120 กิโลกรัม ต่อไร่ ทิ้งไว้ 3-4 วัน รอจนน้ำเริ่มสีเขียว จึงเติมน้ำจนได้ระดับ 1 เมตร จากนั้นจึงนำลูกกุ้งที่อนุบาลมาแล้วประมาณ 1 เดือน ปล่อยลงในบ่อ อัตรา 30,000-50,000 ตัว เลี้ยงประมาณ 2 เดือน ก็สามารถจับขายได้ มีอัตรารอด 80% ที่สำคัญการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ควรช่วยการหายใจด้วยระบบการเติมออกซิเจนด้วย

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะประมงฯ โทร. (053) 498-178, (053) 873-402 ต่อ 161, (086) 654-2372