มะเขือเทศ




มะเขือเทศ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มะเขือเทศขนาดปานกลางจะมีปริมาณวิตามินซีครึ่งหนึ่งของส้มโอทั้งผล มะเขือเทศผลหนึ่งจะมีวิตามินเอราว 1 ใน 3 ของวิตามินเอที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวัน  นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีโปแตสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียมและแร่ธาตูอื่นๆ อีกหลายชนิด Alangcity




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lycopersicon esculuentum Mill.
ชื่อวงศ์ : Solanaceae
ชื่อสามัญ : Tomato
ชื่ออื่น : มะเขือ (ทั่วไป) มะเขือส้ม (ภาคเหนือ) ตรอบ (สุรินทร์) น้ำเนอ (เชียงใหม่)

พันธุ์ที่คนไทยนิยมปลูก
1. มะเขือเทศราชินี
2. มะเขือเทศสีดา


พันธุ์มะเขือเทศ




แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
พันธุ์สำหรับปลูกขายตลาดสด

ซึ่งแบ่งออกได้ตามขนาดผลและการใช้ควรมีลักษณะดังนี้


1. พันธุ์ผลโต นิยมใช้ทำสลัดและประดับจานอาหาร เช่น พันธุ์ฟลอราเดล และมาสเตอร์เบอร์ 3 เป็นต้น มีลักษณะดังนี้คือ
    1.1 มีผลทรงกลมแบบแอปเปิล
    1.2 สีผลเขียว มีไหล่เขียว สุกแดงจัด
    1.3 มีจำนวนช่องในผลมาก ไม่กลวง
    1.4รสดี เนื้อหนาแข็ง เปลือกไม่เหนียว

2. พันธุ์ลูกเล็ก นิยมใช้ประกอบอาหารพื้นบ้าน ได้แก่ พันธุ์สีดา, ห้างฉัตร มีลักษณะดังนี้
2.1 ผลเล็ก
2.2 สีชมพู นิยมมากกว่าแดง
2.3 รสเปรี้ยว ไม่ขื่น

พันธุ์สำหรับส่งโรงงานอุตสาหกรรม
ได้แก่พันธุ์ วี เอฟ 134-1-2, พี 502, พี 600 เป็นต้น ควรมีลักษณะดังนี้
1. เป็นพันธุ์ที่สุกพร้อมกันเป็นส่วนใหญ่
2. ขั้วผลควรหลุดจากผลได้ง่ายเมื่อปลิดผล
3. ผลสุกมีสีแดงจัดตลอดผล
4. ไส้กลางของผลสั้น เล็กและไม่แข็งแรง
5. เนื้อมาก น้ำน้อย มีปริมาณกรดสูง
6. ผลแน่น แข็ง เปลอกหนาและเหนียว สามารถขนส่งได้ในระยะทางไกล ๆ และเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย


การปลูกมะเขือเทศ
สภาพอากาศที่เหมาะสม
ฤดูหนาว เป็นฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 18-28 องศาเซลเซียสซึ่งต้นจะแข็งแรงและติดผลมาก ถ้าความชื้นของอากาศและอุณหภูมิสูงจะทำให้ผลผลิตและคุณภาพลดลง และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ง่าย
ปัญหาการปลูกมะเขือเทศในฤดูฝนคือ ในฤดูฝนมีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะแก่การเจริญเติบโตของโรคหลายชนิด และมะเขือเทศบางพันธุ์ผลจะแตกง่ายเมื่อฝนตกแต่ถ้าต้องการจะปลูกมะเขือเทศในฤดูฝนสิ่งที่จะต้องปฏิบัติคือ

1. เลือกพื้นที่ปลูกที่สูงมีการระบายน้ำดีเป็นพิเศษ
2. ดินมีสภาพเป็นกลาง คือมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 6.5-6.8
3. ใช้พันธุ์ที่เหมาะสมคือให้ผลดกในฤดูฝนและฤดูร้อน
4. มีการปฏิบัติรักษาอย่างถูกต้องดีคือ เตรียมดินใส่ปุ๋ยถูกต้อง ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและบ่อยครั้งเป็นพิเศษ อย่าปล่อยให้โรคทำลายก่อนแล้วจึงคิดป้องกันกำจัด ปกติผู้ปลูกที่ประสบความสำเร็จมักใช้สารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อราสูงกว่าในฤดูปกติ

สภาพดินและการปลูกดิน
ดินที่เหมาะสมในการปลูกมะเขือเทศมากที่สุดควรเป็นดินร่วนมีอินทรียวัตถุสูงและมีการระบายน้ำดี ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ประมาณ 6.5-6.8 ถ้าดินเป็นกรดหรือด่างมากเกินไปจะทำให้ดินขาดธาตุอาหารบางอย่างได้ หรือธาตุอาหารบางชนิดสามารถละลายออกมาได้มากเกินไปจนเป็นเหตุให้เป็นพิษต่อต้นพืช การจะทราบว่าดินบริเวณที่จะปลูกเป็นกรดหรือด่างเท่าใดก็โดยส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางกองเกษตรเคมีจะได้แนะนำการปรับดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชต่อไป

การปลูกมะเขือเทศโดยทั่วไปไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมหรือในพื้นที่ปลูกพืชในตระกูลเดียวกันกับมะเขือเทศมาก่อน เช่น พริก มะเขือและยาสูบ เป็นต้น เพราะอาจมีเชื้อโรคต่าง ๆ สะสมอยู่ในดิน ซึ่งเป็นโอกาสให้มะเขือเทศเป็นโรคได้ง่าย

การเตรียมดินสำหรับปลูกมะเขือเทศต้องพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ดินต้องมีการระบายน้ำดี กำจัดวัชพืชให้หมด เพราะวัชพืชนอกจากจะแย่งน้ำ อาหารและแสงแดดแล้วยังเป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลงได้อย่างดีอีกด้วย ดังนั้น ถ้าหากมีการเตรียมดินให้ดีตั้งแต่เริ่มแรกจะป้องกันการงอกของวัชพืชไปได้นาน ควรเตรียมดินให้ลึก 30-40 เซนติเมตร ถ้าใช้เครื่องทุ่นแรงหรือรถไถ 2-3 ครั้ง โดยไถกลบดินไปมาและตากดินให้แห้ง 3-4 อาทิตย์

แล้วย่อยดินให้ละเอียดพอควร อย่าให้ละเอียดมากเกินไป เพราะมะเขือเทศต้องการสภาพดินที่มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ ถ้าหากดินเป็นกรดให้ใช้ปูนขาวหว่านในอัตราตามที่ได้รับคำแนะนำจากการวิเคราะห์ดินหรือหากไม่ได้ส่งดินไปวิเคราะห์จะหว่านปูนประมาณ 100-300 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ปูนขาวหว่านและคลุกเคล้ากับดินหรืออาจจะหว่านก่อนการเตรียมดินครั้งสุดท้าย แต่อย่างไรก็ตามควรใส่ปูนขาวก่อนปลูก 2-3 อาทิตย์


การเพาะกล้า  ทำได้ 2 วิธี คือ

1.กระบะเพาะ
นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าจำนวนไม่มากนัก การเพาะกล้าโดยวิธีนี้จะสามารถเพาะได้ดีเนื่องจากใช้ดินจำนวนน้อยสามารถนำดินมาอบฆ่าเชื้อโรคก่อนทำการเพาะได้ สารเคมีที่ใช้ในการอบดินได้แก่ เมทิลโบรโมด์ คลอโรพิคริน หรือจะใช้เมอร์คิวริคคลอไรด์ ในอัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 2,000 ส่วน นำไปรดดินที่จะเพาะ แล้วทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ก่อนเพาะ แต่ถ้าหากไม่สามารถจะทำได้ก็ใช้วิธีนำดินไปอบด้วยไอน้ำร้อน หรือตากดินที่จะใช้เพาะให้ดีก่อนประมาณ 3-4 อาทิตย์ หรือเลือกดินที่ปราศจากโรคมาเป็นส่วนผสม โดยสังเกตว่าดินนั้นปลูกพืชแล้วพืชไม่เคยเป็นเคยเป็นโรคมาก่อน หรือเป็นดินที่ไม่เคยปลูกพืชมาก่อนก็ใช้ได้

กระบะที่ใช้เพาะเมล็ดควรมีขนาดประมาณ 45 x 60 เซนติเมตร (หรือภาชนะที่พอจะหาได้) ลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร มีรูระบายน้ำได้ใส่ดินที่ร่อนแล้ว 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ทรายหรือแกลบ 1 ส่วนคลุกเคล้าให้เข้ากันปรับผิวหน้าดินให้เรียบ แล้วโรยเมล็ดเป็นแถวโดยการใช้ไม้ทาบเป็นร่องเล็ก ๆ ระยะห่างกันระหว่างแถวประมาณ 5-7 เซนติเมตร แล้วกลบเมล็ดด้วยแกลบหรือทรายบาง ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่มใช้สารเคมีฆ่าแมลงผสมน้ำรดอีกทีหนึ่ง เพื่อกันมดคาบเมล็ดไปกิน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกให้ใช้สารเคมีกันรา เช่น แคปแทนหรือแมนเซทดี อัตรา 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บรด 1 ครั้ง เมื่อกล้าอายุได้ 15 วัน หรือมีใบจริง 2 ใบ ให้ย้ายกล้าลงใส่ถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว ซึ่งบรรจุดินผสมอยู่

เมื่อกล้าสูงประมาณ 1 คืบหรือมีอายุ 30-40 วันจึงทำการย้ายกล้าลงแปลงปลูก โดยใช้มีดกรีดถุงพลาสติกให้ขาดเพื่อไม่ให้รากกระทบกระเทือนก่อนที่จะย้าย 2-3 วัน อาจใช้โปแตสเซี่ยมคลอไรด์อัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ รดเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงแต่ก่อนย้ายกล้าควรงดให้น้ำ 1 วัน เพื่อให้ดินในถุงจับตัวแน่น จะสะดวกต่อการย้ายกล้ามาก

อย่างไรก็ตามเมื่อกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ หากไม่ย้ายกล้าลงถุงพลาสติกก็ควรชำต้นกล้าให้เป็นแถวในแปลงชำซึ่งเตรียมดินให้ร่วนซุยโดยการใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 5-7 กิโลกรัมต่อ 1 ตารางเมตร ขนาดแปลงชำกว้าง 1 เมตร ความยาวแล้วแต่พื้นที่และปริมาณของต้นกล้า ระยะปลูกระหว่างแถว 10 เซนติเมตร ระหว่างต้น 10 เซนติเมตร และเมื่อกล้าสูงประมาณ 1 คืบ หรือมีอายุ 30-35 วัน ก็ย้ายลงแปลงปลูกจริง โดยก่อนย้ายจะต้องรดน้ำในแปลงชำให้ชุ่มเสียก่อน เพื่อความสะดวกในการถอนต้นกล้า และรากต้นกล้าจะไม่ขาดและกระทบกระเทือนมาก

2.แปลงเพาะ
นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าเป็นจำนวนมาก สำหรับขนาดแปลงเพาะก็เช่นเดียวกับแปลงชำ คือขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาวแล้วแต่พื้นที่หรือปริมาณกล้าที่ต้องการ ทางเดินระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร ผสมดินด้วยปุ๋ยคอกและทรายตามอัตราส่วน 3: 1 เช่นกัน ทำการเพาะเมล็ดโดยโรยเมล็ดเป็นแถวห่างกัน 10 เซนติเมตร เมื่อกล้ามีอายุ 20-25 วัน หรือมีใบจริง 2-3 ใบ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้ แปลงเพาะควรมีตาข่าย หรือผ้าดิบคลุมแปลงเพื่อป้องกันแดด ลม และฝน ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ต้นอ่อนให้ถึงตายหรือเกิดโรคได้ ถ้าจะให้ได้ผลดีควรเปิดให้รับแสงแดดถึง 3 โมงเช้าและเปิดอีกครั้งเมื่อ 4 โมงเย็น

นกรณีที่หาวัสดุหรือผ้าคลุมแปลงไม่ได้และไม่ใช่ฤดูฝน อาจจะใช้ฟางข้าวใหม่มาคลุมบาง ๆ หลังจากโรยเมล็ดและกลบดินเรียบร้อยแล้ว เมื่อเมล็ดงอกแล้วค่อย ๆ ดึงเอาฟางออกบ้างเพื่อให้ต้นกล้าโผล่พ้นฟางได้ง่ายและต้นกล้าจะได้แข็งแรง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนั้นมีราคาแพง ดังนั้น ก่อนจะเพาะกล้า ควรจะได้ทดลองหาความงอกของเมล็ดเสียก่อนว่ามีความงอกเท่าไร (กี่เปอร์เซ็นต์) โดยใช้วิธีเพาะเมล็ดในกระดาษเพาะเมล็ดโดยตรงหรือถ้าไม่มีก็ใช้กระดาษฟางชื้น หรือในกระบะทรายก็ได้โดยใช้เมล็ด 100 เมล็ด หลังจากเพาะได้ 10-15 วัน นับจำนวนต้นที่งอกเป็นเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด


การปลูกและแปลงปลูก
แปลงปลูกควรไถพรวนและปรับระดับดินให้เรียบสม่ำเสมอกันแล้วยกแปลงให้สูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 100 เซนติเมตร ปลูกเป็นแถวคู่ระยะระหว่างแถว 70 เซนติเมตร ระหว่างต้น 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอกหนึ่งกระป๋องนมต่อหลุม ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กรัมต่อต้น คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วจึงย้ายกล้าลงหลุมปลูกหลุมละ 1-2 ต้น กลบดินให้เสมอระดับผิวดินอย่าให้เป็นแอ่งหรือเป็นหลุม เพราะจะทำให้น้ำขังและต้นกล้าเน่าตายได้ ถ้าปลูกขณะที่ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด แต่ถ้าปลูกในฤดูหนาวหรือฤดูแล้งควรจะกลบดินให้ต่ำกว่าระดับหลุมเล็กน้อย
สำหรับการย้ายกล้าลงแปลงปลูกนี้ต้องเลือกต้นกล้าที่มีลักษณะดี มียอดและปราศจากโรคและแมลงรบกวน ถ้าเป็นการย้ายกล้าจากแปลงเพาะหรือแปลงชำมาลงปลูกโดยตรง ควรย้ายปลูกในเวลาที่อากาศไม่ร้อนคือในตอนบ่ายหรือตอนเย็น เมื่อย้ายเสร็จให้รีบรดน้ำตามทันทีจะทำให้กล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น และเปอร์เซ็นต์การตายน้อยลง แต่ถ้าเป็นการย้ายกล้าที่ชำในถุงพลาสติก สามารถย้ายลงแปลงได้ทุกเวลา กล้าจะตั้งตัวได้เร็วและรอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
หลังจากย้ายกล้าแล้วรดน้ำกล้าให้ชุ่มทุกเช้า-เย็น เมื่อกล้าตั้งตัวดีแล้ว จึงควรรดน้ำเพียงวันละครั้งในบางแห่งอาจจะให้น้ำแบบเข้าตามร่องแปลงจนชุ่มแล้ว ปล่อยน้ำออก วิธีนี้สามารถจะทำให้มะเขือเทศได้รับน้ำอย่างเต็มที่และอยู่ได้ถึง 7-10 วัน

การพรวนดินกลบโคนต้น
เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้แล้วควรพรวนดินกลบโคนต้น โดยเปิดเป็นร่องระหว่างแถว เพื่อให้การให้น้ำทำได้สะดวก น้ำไม่ขัง และทำให้รากมะเขือเทศเกิดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นแข็งแรงมากขึ้น และการพรวนดินกลบโคนก็เป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัวด้วย หลังจากพรวนดินกลบโคนครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นอีก 1 เดือนให้ทำการกลบโคนอีกครั้งหนึ่ง


การให้น้ำ
มะเขือเทศต้องการน้ำสม่ำเสมอ ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงผลเริ่มแก่ (ผลมีการเปลี่ยนสี) หลังจากนั้นควรลดการให้น้ำลง มิฉะนั้นอาจทำให้ผลแตกได้ การรดน้ำมากเกินไปจะทำให้ดินชื้น ซึ่งทำให้เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเน่าเจริญได้ดี แต่หากมะเขือเทศขาดน้ำ และให้น้ำอย่างกะทันหันก็จะทำให้ผลแตกได้เช่นกัน



การปักค้าง
พันธุ์ที่ทอดยอดหรือพันธุ์เลื้อยจำเป็นต้องมีการปักค้างโดยใช้ไม้หลักปักค้างต้นก่อนระยะออกดอก โดยใช้เชือกผูกกับลำต้นให้ไขว้กันเป็นเลข 8 และผูกเงื่อนกระตุกกับค้างเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี สะดวกต่อการดูแลรักษา ฉีดสารป้องกันแมลงได้ทั่วถึง ผลไม่สัมผัสดิน ทำให้ผลสะอาดและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว



การใส่ปุ๋ย
นอกจากจะใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 รองก้นหลุมก่อนปลูกแล้ว จำเป็นจะต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีเสริมด้วย เพื่อให้คุณภาพและผลผลิตของมะเขือเทศสูงขึ้น สำหรับปุ๋ยเคมีที่จะใช้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของดินแต่ละแห่ง เช่น ถ้าดินเป็นดินเหนียว ปุ๋ยเคมีที่ใช้ควรมีไนโตรเจนและโปแตสเซี่ยมเท่ากัน
ส่วนฟอสฟอรัสให้มีอัตราสูง เช่น สูตร 12-24-12 หรือ 15-30-15 ถ้าเป็นดินร่วนควรให้ปุ๋ยที่มีโปแตสเซี่ยมสูงขึ้น แต่ไม่สูงกว่าฟอสฟอรัส เช่นสูตร 10-20-15 ส่วนดินทรายเป็นดินที่ไม่ค่อยจะมีโปแตสเซี่ยม จึงควรให้ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซี่ยมสูงกว่าตัวอื่น เช่นสูตร 15-20-20, 13-13-21 และ 12-12-17 เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการปลูกมะเขือเทศนอกฤดูจะต้องใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เนื่องจากมะเขือเทศจะใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากถ้าหากอุณหภูมิของอากาศสูง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่สามารถหาปุ๋ยสูตรดังกล่าวข้างต้นได้ก็สามารถใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการแบ่งใส่ 3 ครั้ง ดังนี้
1. ใส่ครั้งที่ 1 หลังจากย้ายปลูก 7 วัน
2. ใส่ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งที่หนึ่ง 15 วัน
3. ใส่ครั้งที่ 3 หลังจากครั้งที่สอง 20 วัน


ประโยชย์
ในผลมะเขือเทศมีสารจำพวก แคโรทีนอยด์ ชื่อไลโคพีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารสีแดง และวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน บี 1 บี 2 วิตามิน เค โดยเฉพาะวิตามิน เอ และวิตามิน ซี มีในปริมาณสูง มีกลดมาลิค กรดซิตริก ซึ่งให้รสเปรี้ยว และมีกลูตามิค (Glutamic) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารเบต้า - แคโรทีน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เป็นต้น

สรรพคุณทางยา
1. ผลมีรสเปรี้ยว ช่วยดับกระหาย ทำให้เจริญอาหาร บำรุงและกระต้นกระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต ให้ทำงานได้ดีด้วยช่วยขับพิษและสิ่งคั่งค้างในร่างกายเป็นยาระบายอ่อน ๆ และเหมาะที่จะเป็นอาหารสำหรับคนเป็นโรคนิ่ว วัณโรค ไทฟอยด์ หูอักเสบ และเหยื่อตาอักเสบ โดยรับประทานผลสด ผู้ที่รับประทานมะเขือเทศเป็นประจำ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งในลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก
 2. ช่วยเป็นยารักษาโรคผิวหนังที่โดนแดดเผาโดยใช้ใบตำให้ละเอียดทาบริเวณที่เป็น
3. ช่วยแก้อาการปวดฟัน โดยนำราก ลำต้น และใบแก่ต้มกับน้ำรับประทาน
4. ช่วยรักษาสิว สมานผิวหน้าให้เต่งตึง โดยใช้น้ำมะเขือเทศพอกหน้า หรืออาจจะมะเขือเทศสุกฝานบาง ๆ แปะบนใบหน้า จะช่วยให้ผิวหน้าอ่อนนุ่ม
มะเขือเทศช่วยแต่งรสอาหารให้มีรสเปรี้ยว และนำมาประกอบอาหารต่าง ๆ มากมาย เช่น สลัด ยำต่าง ๆ รสเปรี้ยวหวาน ข้าวผัด ส้มตำ ซุป ต้มยำ ซอสมะเขือเทศ ทำเป็นเครื่องดื่ม คือ น้ำมะเขือเทศ หรืออาจจะรับประทานสด นอกจากนี้ยังใช้แต่งอาหารให้มีสีแดง เช่น ซอสมะเขือเทศ


ข้อควรสังเกต/ข้อควรระวัง
1. น้ำจากผลมะเขือเทศสุกมีสารไลโคเปอร์ซิซิน (Lycopersicin) ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา และแบคทีเรีย
2. ใบมีฤทธิ์ฆ่าแมลง โดยชงกับน้ำร้อนใช้กำจัดหนอนและแมลง ที่มากินผักได้