แพะ


การเลี้ยงแพะ แบบมุสลิม การเลี้ยงแพะตามวิถีมุสลิม '' Alangcity''

    แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่สำคัญ และใกล้ชิดกับมนุษย์มานาน กระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 710 ล้านตัว แบ่งเป็น 570 พันธุ์ มีมากในทวีป เอเซียและแอฟริกา ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมากถึงร้อยละ 74 และหากนำมาเปรียบเทียบกับจำนวน ประชากรมุสลิม เห็นได้ว่ายังมีความต้องการแพะ มากถึง 2 เท่าของแพะที่มีอยู่ทั่วโลก สำหรับกลุ่ม ประเทศอาเซียนนั้นประเทศอินโดนีเชียมีแพะจำนวน 14 ล้านตัว ซึ่งมีมากเป็นอันดับ 8 ของโลก

    ส่วนประเทศไทยมีแพะเพียง 338,355 ตัว มีมากในภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และ สงขลา รวมกันแล้วมีแพะเพียง 159,390 ตัว หากนำมาเปรียบเทียบกับ จำนวนประชากรมุสลิมที่มีอยู่ประมาณ 1.98 ล้านคน นั้นพบว่ายังมีความต้องการแพะมากถึง 1.82 ล้านตัว คิดเป็นเงินรายได้กว่า 4,950 ล้านบาท

บ้านอะลาง  ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ
    นับว่าเป็นเงินรายได้มหาศาล เพราะฉะนั้น หาก มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะอย่างจริงจัง ประเทศไทย ก็สามารถผลิตแพะเป็นสินค้าส่งออกได้ และสามารถ ส่งเสริมให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้อีกด้วย การเลี้ยงแพะสามารถส่งเสริมเป็นอาชีพที่ ยั่งยืนได้ เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก (small ruminant) ที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม ราคาถูก ขยายพันธุ์ได้เร็วเพราะมีระยะเวลา การอุ้มท้องเพียง 150 วัน ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงน้อยกว่าโค-กระบือ และมักจะให้ลูกแฝด นอกจากนั้นแล้วแพะยังสามารถกินอาหารได้ หลายชนิดเช่น พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลหญ้า เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (by-product) และใบไม้ สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญใน การเลี้ยงแพะก็เพื่อบริโภคเนื้อ นม และเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีสองพิธีกรรมสำคัญ คือการรับขวัญทารกแรกเกิดทั้งเพศชายและ เพศหญิง หรือเรียกว่าการอากีเกาะฮ และการแสดง ความเสียสละและศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือเรียกว่าการกุรบ่าน สำหรับแพะ ที่ใช้นั้นต้องมีอายุแน่นอนและไม่พิการ นอกจากนี้ ยังใช้แพะในพิธีการพิเศษต่างๆ เช่นการขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน หรือการทำบุญงานศพในปี ค.ศ.1993-2003 ผลิตภัณฑ์จากแพะเพิ่มขึ้น


   โดยเฉพาะน้ำนมแพะเพิ่มขึ้นถึง 11.81 ล้านตัน ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะความนิยมในการบริโภค นมแพะมากขึ้น และเนื่องจากนมแพะประกอบด้วย โปรตีนและไขมันที่ย่อยได้ง่ายกว่านมโค เหมาะ สำหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร และอาการ แพ้นมโคส่วนเนื้อแพะนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 4.09 ล้านตัน(2) อาจเป็นเพราะความนิยมการบริโภค เนื้อแพะยังน้อยอยู่ นิยมเฉพาะกลุ่มมุสลิมเท่านั้น สำหรับเนื้อแพะที่นำมาบริโภคนั้นต้องผ่านการเชือด ตามหลักศาสนาเพื่อเป็นเนื้อแพะฮาลาล (Halal) ที่มุสลิมสามารถบริโภคได้ด้วย เนื้อและนมที่ ปลอดภัยต้องมาจากวิธีการเลี้ยงที่ปลอดภัยโดย ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค ดังนั้น การเลี้ยงตามแนวอิสลามนั้น ง่าย ประหยัด และปลอดภัยจากสารตกค้าง หรือเชื้อโรคเนื่องจาก ให้แพะกินพืชเท่านั้น ไม่ใช้วัตถุดิบจากสัตว์ เช่น สมอง เลือด กระดูก และอื่นๆ ยิ่งกว่าไปนั้นยังห้าม ใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต (growth promoter) และยาปฏิชีวนะ (antibiotics) เพราะ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เป็นอันตรายต่อแพะ และผู้ บริโภคหากใช้ในปริมาณสูง และเป็นระยะเวลานาน แต่ข้อมูลแนวทางในการเลี้ยงแพะตามวิถีอิสลาม ยังมีน้อยมากจึงได้รวบรวมข้อมูลอัน ประกอบด้วย จำนวนและความต้องการแพะของมุสลิมพิธีกรรม สำคัญฮาลาล และกระบวนการเชือดแพะตามหลักศาสนา ตลอดจนการเลี้ยงแพะตามแนวทางของ มุสลิมซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการ ด้านปศุสัตว์และผู้สนใจเลี้ยงแพะเพื่อผลิตสู่ อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลต่อไปในอนาคต


จำนวนและความต้องการแพะ
    แพะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงทั่วไปกระจาย อยู่ทั่วโลกกว่า 710 ล้านตัว มีมากในประเทศ ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศ จีนและอินเดีย ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนแพะมากเป็นอันดับแรก ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 และมีมากในภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา สตูล นราธิวาส และสงขลา เมื่อรวมกันแล้วมีมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนแพะทั้งประเทศเนื่อง จากมีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากถึงร้อยละ 80-85 ซึ่งมีความต้องการแพะ เพื่อเป็นอาหารและใช้ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา จากการประเมินความต้องการแพะทั้งหมดพบว่ามีความต้องการแพะมากถึง 2 เท่า ของจำนวนที่มี อยู่ทั่วโลก สำหรับในเอเชียมีความต้องการมากถึง 210 ล้านตัว สำหรับประเทศไทยนั้น ภาคใต้มีความ ต้องการแพะมากถึง 1,820,000 ตัว และจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าในปี ค.ศ.1993-2003 จำนวน ประชากรแพะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.4 ผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 11.81 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 8.7 ส่วนเนื้อเพิ่มขึ้นเป็น 4.09 ล้านตันคิดเป็นร้อยละ 38.1 แต่จากข้อมูลดังกล่าวถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อและนมแพะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังไม่เพียงพอกับ ความต้องการของประชากรมุสลิมทั่วโลก หรือในเอเชีย หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยก็ตามหากนำมาคิดเป็นเงินรายได้เฉพาะประเทศไทยสามารถสร้าง รายได้มากถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถยืนยัน ได้ว่าแพะกำลังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและ สตูล ที่จำเป็นต้องใช้แพะเป็นอาหาร และใช้ ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาอิสลาม


การใช้แพะในการทำพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา
    แพะเป็นสัตว์เลี้ยงเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณกาล ประมาณ 8,000 ปี ก่อนคริสตกาลกระจายตาม ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาหลายศาสนา เช่น การฆ่าแพะเพื่อสังเวยต่อเทพเจ้าของชาวซุมาเรียนและบาบีโลเนียน หรือในนิยายกรีกโบราณบางตอนได้กล่าวถึง เทพเจ้าเทพซีอุส (Zeus) ประมุขของเทพเจ้ากรีก ได้รับการเลี้ยงดูจากแพะชื่ออมัลเธีย (Amalthea) อีกทั้งสมัยยุคโมเสสมีพิธีกรรมประจำปีที่ต้องใช้แพะแฝดหนึ่งคู่ เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าในการชดใช้บาปแทนมนุษย์ หรือเป็นแพะรับบาป (scapegoat) ซึ่งเป็นสำนวนที่ใช้จนถึงปัจจุบัน แต่หลังจากนั้นแพะถูกใช้เป็นสัญญลักษณ์ของพวกนอกรีต นอกศาสนาเชื่อว่าเป็นพวกเดียวกันกับปีศาจดังปรากฏในภาพวาดต่างๆ ที่ปีศาจมักมีขนปกคลุมรุงรัง มีเขาเครา และกีบขาเหมือนแพะ แต่ในปัจจุบันแพะมีความสำคัญ และยังคงนิยมใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวมุสลิม เนื่องจากแพะเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่ง สามารถใช้ได้นอกเหนือจากสัตว์ชนิดอื่น แพะที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนานั้น ต้องมีอายุ 2 ปี ขึ้นไปโดยสามารถประมาณอายุ ได้จากจำนวนฟันแท้ที่งอกออกมา นอกจากนั้น แพะต้องมีอวัยวะครบสมบูรณ์ไม่พิการสุขภาพ แข็งแรงและไม่เป็นโรค พิธีกรรมสำคัญคือ การอากีเกาะฮ เป็นการรับขวัญทารกแรกเกิดทั้งเพศชาย และหญิงเพื่อแสดงความขอบคุณพระเป็นเจ้าที่ประทานบุตรลงมาเพศหญิงใช้แพะหนึ่งตัว และเพศชายใช้สองตัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และการกุรบ่านเป็นพิธีกรรมแสดงความเสียสละ เพื่อเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าในวันฮารีรายออิดิลอัฏฮา โดยการเชือดแพะ 1 ตัว ต่อคนหรืออีกนัยคือ การฆ่าสัตว์เพื่อเฉลิมฉลองการเสร็จสิ้นในการปฏิบัติพิธีฮัจย์ โดยให้แบ่งเนื้อแก่คนยากไร้ รวมทั้ง ทำให้คนในครอบครัวมีความดีใจ และเสริมสร้างความผูกพันธ์ระหว่างมุสลิม ด้วยกัน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแพะเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับหลายศาสนา โดยเฉพาะในศาสนาอิสลามยังคงนิยมใช้แพะในการบริโภคและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเนื่องจากแพะเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถหาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่อย่างไรก็ตามแพะที่จะนำมาบริโภค และประกอบพิธีกรรมนั้นต้องได้มาจากวิธีการเลี้ยงและการเชือดที่ถูกตามหลักศาสนาอิสลามถึงจะถือว่าเป็นเนื้อที่มุสลิมสามารถบริโภคได้ หรือ เรียกว่าเนื้อฮาลาล


ฮาลาลและกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล
   อาหารฮาลาล (Halal food) คืออาหารที่มุสลิมสามารถบริโภคได้และกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยการ ผลิตอาหารฮาลาลต้องคำนึงถึงบทบัญญัติศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ พร้อมทั้งนำมาตรฐานอื่นมาใช้ควบคู่กันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการ ให้เป็นระบบ โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม
ฮาลาล เป็นคำที่มาจากภาษาอาหรับ หมายถึงสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าอนุญาตให้ทำได้หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้รวมถึงการกระทำพฤติกรรมความสัมพันธ์กับผู้อื่นการทำงาน การทำธุรกิจ การพักผ่อนตลอดจนเสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ แต่ฮาลาลในแง่ของการบริโภคหมายถึง การผลิต การบริการ หรือการจำหน่ายที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาหรือแปรรูปตาม บทบัญญัติของศาสนา นอกจากในเรื่องดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ศาสนาอิสลามยังได้กำหนดชนิดของสัตว์ที่สามารถนำมาบริโภค ได้โดยแบ่งออกเป็นสัตว์บก เช่น แพะ แกะ โค กระบือ อูฐ กวาง ฯลฯ และสัตว์น้ำจำพวกปลา ปู กุ้ง หอย และสัตว์ทะเลทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีพืชและเครื่องดื่มทุกชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ถ้าสิ่งดังกล่าวปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก จะกลายเป็นอาหารต้องห้ามทันทีสิ่งสกปรก (นายิส; najis) หมายถึง สิ่งสกปรกตามหลักศาสนาอิสลาม คือสุนัข สุกร สุรา ซากสัตว์ (สัตว์ ไม่ได้เชือดตามหลักการอิสลามยกเว้นปลา และ ตั๊กแตน เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง สิ่งขับถ่าย นมลา นมแมว นมสุกร ส่วนสัตว์ที่ไม่สามารถบริโภคตามหลักศาสนาอิสลาม (หะรอม;Haram) ประกอบ ด้วย สุกร สุนัข หมูป่า งู ลิง สัตว์มีกรงเล็บ สัตว์มีพิษหรือสัตว์นำโรค สัตว์ที่ไม่อนุญาตฆ่าตามหลักศาสนา เช่น มด ผึ้ง และนกหัวขวาน สัตว์น่ารังเกียจ สัตว์ที่ไม่เชือดตามหลักศาสนา เลือด รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ และสัตว์ ลักษณะเดียวกับลา โดยมุสลิมเชื่อว่าหากฝ่าฝืนแล้วจะได้รับความโกรธกริ้ว และไม่โปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เองเรื่องฮาลาลเป็นแนวทางการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตสำหรับมุสลิม แนวทางการบริโภคอาหารของมุสลิมนั้นต้องมาจากขั้นตอนการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย เช่น เดียวกันกับเนื้อแพะที่นำมาบริโภคนั้นต้องเป็นแพะ ที่เลี้ยงอย่างถูกต้อง และปลอดภัยโดยจะเน้นในเรื่อง ของอาหารแพะต้องมาจากสิ่งที่อนุญาตในศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแพะต้องผ่านวิธีการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาด้วย โดยมีหลักการ คือ ผู้เชือดต้องเป็นมุสลิมที่มีความรู้ในเรื่องวิธีการเชือดตามหลักศาสนา แพะต้องมีชีวิต ในขณะที่เชือดหัวตาม และหน้าของแพะต้องหันไปทางกิบลัต (กิบลัต คือที่ตั้งของนครเมกกะ) หรือทิศตะวันตก การเชือดต้องเริ่มต้นด้วยการกล่าวคำว่า “บิสมิลลาฮ์” ด้วย พระนามของพระผู้เป็นเจ้า และเชือดบริเวณลำคอของแพะโดยให้ตัดเส้นเลือดใหญ่ หลอดลม และหลอดอาหารเพื่อให้เลือดไหลออกมาก และให้แพะตายเร็วที่สุด แต่ห้ามให้ไขสันหลังขาด ในระหว่างการเชือดต้องไม่ยกมีดขึ้นจากตัวแพะ อีกทั้งต้องรอให้แพะต้องตายก่อนจะนำไปปรุงสุก อาหารมุสลิมต้องเป็นสิ่งที่กำหนดตามหลัก ศาสนาโดยเฉพาะอาหารจากเนื้อสัตว์ต้องผ่านการ เชือดตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อให้มุสลิมสามารถบริโภคได้โดยไม่มีความกังวล ยิ่งไปกว่านั้นต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยวิธีการเลี้ยงแพะนั้นให้เป็นไปตามแนวทางการเลี้ยงแพะแบบวิถีอิสลามด้วย


การเลี้ยงแพะตามวิถีอิสลาม
    การเลี้ยงแพะในประเทศไทยมี 3 วิธี  คือการเลี้ยงแบบปล่อยให้แพะหาอาหารกินเองตามแหล่งทุ่งหญ้าธรรมชาติในเวลากลางวัน และต้อนกลับในช่วงเย็น วิธีนี้นิยมมากในชนบท เพราะเป็นการเลี้ยงที่ประหยัดแรงงาน ค่าอาหาร และพื้นที่ แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้แพะทำความ เสียหายแก่พืช วิธีที่สองคือ การเลี้ยงแบบผูกล่าม เป็นวิธีที่ใช้แรงงานมากกว่าแบบแรก แต่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุรถชน และแพะไม่สามารถไปทำลายพืชให้เสียหายได้พบเห็นทั่วไปตามทุ่งหญ้าสาธารณะ บริเวณริมถนน หรือผูกไว้ในสวน แต่ต้องมีน้ำให้แพะกินตลอดเวลา รวมทั้งควรเลือกพื้นที่ ที่มีร่มเงาให้แพะสามารถหลบแดดหรือฝนได้ โดยเฉพาะภาคใต้มีการเลี้ยงแบบนี้มาก สำหรับ วิธีสุดท้าย คือการเลี้ยงแบบขังคอกเป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยมในชนบทหรือผู้เลี้ยงรายย่อย เพราะ มีการลงทุนในการสร้างโรงเรือนสูง แต่วิธีนี้ประหยัด พื้นที่และแรงงานในการดูแล ตลอดจนปลอดภัย จากศัตรูต่างๆ ของแพะ  วิธีการเลี้ยงแพะทั้ง 3 วิธีนั้นถือว่าเป็นแนว ทางเดียวกันกับการเลี้ยงตามวิถีอิสลาม แต่การเลี้ยงตามแนวทางของอิสลาม นั้นต้องคำนึงถึงอาหารของแพะด้วย เพราะโดยทั่วไปแล้วแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องกินพืชเป็นหลัก เช่นพืช ตระกูลหญ้า ตระกูลถั่ว และผลพลอยได้ (By-products) จากการเกษตรตลอดจนใบไม้ชนิดต่างๆ เนื่องจากอาหารพวกนี้จะช่วยให้กระเพาะรูเมนทำงานเป็นปกติ

    กระตุ้นการขับน้ำลายซึ่งทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ (buffer) ช่วยรักษาความเป็นกรดด่างในกระเพาะรูเมนให้เป็นปกติ หากกระเพาะรูเมนมีสภาพเป็น กรดจัดจะเป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อย อาหาร และต่อแพะเอง แต่ในปัจจุบันการเลี้ยงแพะ ได้พัฒนาเป็นการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกันนั้นเริ่มมีการเสริมอาหารมากขึ้นทำให้ ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหาร แต่เหตุผลการเสริมอาหารก็เพื่อให้แพะมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น และมีระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นลง  สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผสมอาหารแพะนั้นมีทั้งจาก พืชและสัตว์ เช่น กระดูกป่น ปลาป่น เลือดป่น และเศษเหลือใช้จากสัตว์ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนมาทำให้ ติดต่อถึงสัตว์และคนได้ถ้าหากนำผลิตภัณฑ์จาก แพะเป็นโรค เช่นโรควัวบ้า (mad cow) มาบริโภค

    นอกจากนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารเร่งการ เจริญเติบโตมากขึ้น โดยสารและยาปฏิชีวนะที่ห้าม ใช้ในอาหารสัตว์มี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสารก่อให้เกิด โรคมะเร็ง เช่น Carbadox Olaquindox Chloramphenical Nitrofurazone Diesthystilbestrol และ Nitroemidazone กลุ่มที่ก่อให้เกิดการ ดื้อยาของแบคทีเรีย เช่น Avoparcin และกลุ่มที่มีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น Betaagonist หากใช้สารเหล่านี้อาจตกค้างในผลิตภัณฑ์ และเป็น อันตรายต่อผู้บริโภค ความปลอดภัยของการบริโภค อาหารเป็นสิ่งที่ควรตระหนักถึง เนื่องจากในปัจจุบัน การผลิตสัตว์ หรือการผลิตแพะมีการใช้สารเสริม (feed additive) เติมลงในอาหารสัตว์เพื่อเร่งให้สัตว์เจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ และเพื่อลดต้นทุนในการ เลี้ยงสำหรับสารที่นิยมใช้ คือ สารเร่งการเจริญ เติบโตและยาปฏิชีวนะที่เป็นสาเหตุให้เชื้อดื้อยา และมีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดโรคภัยในมนุษย์ หากสัตว์ได้รับเป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง เช่น การแพร่ระบาดของโรควัวบ้า มะเร็ง หรือไข้หวัดนก (bird fluenza)ดังนั้นตรงกับหลักศาสนาอิสลามที่ห้ามใช้สารอันตรายมาเลี้ยงสัตว์รวมทั้งแพะ ด้วย เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นจะเป็นอันตรายต่อผู้ บริโภค


จากข้อมูลดังกล่าว จึงสรุปได้ว่าวิธีการเลี้ยงแพะโดยทั่วไปเป็นไปตามแนวทางของศาสนา อิสลาม แต่จะขัดกับหลักศาสนาหากการเลี้ยงนั้น มีการใช้วัตถุดิบจากสัตว์ โดยเฉพาะจากสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนม รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเสริม ลงในอาหารแพะ หากแพะได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และใช้ในปริมาณสูงจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาและตกค้างในผลิตภัณฑ์ได้ ในศาสนาอิสลามจึงห้ามบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพราะจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค


วิจารณ์
    แพะเป็นสัตว์สำคัญทางเศรษฐกิจกระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา และกำลัง พัฒนา เช่น จีน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯลฯ จากการวิเคราะห์พบว่า จำนวนแพะ และ ผลิตภัณฑ์เนื้อและนมแพะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจาก ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดจากการเลี้ยงแพะ ยังไม่เป็นการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรม แต่เป็นการเลี้ยงเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่เจริญพัฒนา และอาจ

    เป็นการเลี้ยงเฉพาะคนบางกลุ่มที่เลี้ยง เพื่อการบริโภค และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากต้องการเพิ่มประชากรแพะให้มากขึ้น ต้องมีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะในกลุ่มประชากรที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย พร้อมกันนั้น ต้องพัฒนาระบบการเลี้ยงให้ปลอดภัย และถูกหลักศาสนาอิสลามจะทำให้สามารถผลิตแพะได้เพียงพอกับ ความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนั้นแล้วยังต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อให้เป็นอุตสาหรรมฮาลาล ในปัจจุบันอาหารฮาลาลได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้ผลิต และผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิม และ ไม่ใช่มุสลิม เนื่องจากอาหารฮาลาลจะเน้นความ

    สะอาดความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร นอกจากนั้นมุสลิมยังสามารถบริโภคได้อย่างไม่ต้องวิตกกังวลเพราะว่าไม่ปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก หรือสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนา โดยมุสลิมเชื่อว่าหากฝ่าฝืนแล้วจะได้รับความโกรธกริ้ว และไม่โปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นเรื่องฮาลาลจึงเป็นแนวทางที่มุสลิมทุกคนยึดเป็นแนวทางใน การดำรงชีวิต ปัจจุบันผู้บริโภคจะคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร อาหารต้องสะอาด ไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นไป ในแนวทางเดียวกันกับหลักศาสนาอิสลามที่กำหนด ให้มุสลิมบริโภคอาหารที่สะอาด และปลอดภัยตาม หลักการของฮาลาล เช่น การบริโภคเนื้อแพะของมุสลิมต้องเป็นเนื้อจากวิธีการเลี้ยงที่สะอาดและ ปลอดภัย อาหารแพะต้องมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืช ห้ามใช้วัสดุเหลือใช้จากสัตว์ เช่น เลือดป่น กระดูกป่น สมอง ฯลฯ มาเป็นอาหารในการเลี้ยงแพะ รวมทั้งสัตว์อื่นด้วย นอกจากนั้นห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ และสารเร่งการเจริญเติบโตกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อ สุขภาพของผู้บริโภคดังที่กล่าวมาแล้ว

    เนื่องจากสารและยาปฏิชีวนะจะก่อให้เกิดโรคกับผู้บริโภคเช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งเกิดการดื้อยา ทำให้รักษาโรคในสัตว์ได้ยากขึ้นถึงแม้ว่าสาร และยาปฏิชีวนะบางชนิดอนุญาตให้ใช้ได้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ก็ตาม แต่ถ้าใช้อย่างไม่ถูกวิธีอาจเป็นสาเหตุของการดื้อยา และการเกิดโรคภัยในมนุษย์ จากข้อมูลดังกล่าวนั้นตรงกับหลักศาสนาอิสลาม ที่ห้ามบริโภคผลิตภัณฑ์จากแพะ หรือจากสัตว์อื่น ที่เลี้ยงโดยใช้สิ่งเหล่านั้น เพราะเป็นอันตรายกับผู้บริโภคในระยะยาวแม้กระทั่งประเทศผู้รับซื้อ สินค้าปศุสัตว์ก็ไม่ต้องการเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยผลิตภัณ์จากสัตว์เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคติดต่อถึงผู้บริโภค เช่น โรควัวบ้า ซึ่งพบครั้งแรกในแพะเกิดจากโปรตีนขนาดเล็ก ที่เรียกว่า ไพรออน (prion protein) ติดต่อโดยการนำซากแพะ หรือสัตว์อื่นที่เป็นโรคไปบริโภคหรือนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำหรับผสมอาหารสัตว์ และเมื่อนำไปเลี้ยงแล้วจะทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นองค์การอาหาร และยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration,FDA) ประเทศสวีเดน และสมาชิกสหภาพยุโรป


ได้ออกกฎหมายห้ามใช้วัสดุเหลือใช้จากสัตว์ โดยเฉพาะวัสดุจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สมอง ไขสันหลัง เลือด กระดูก ฯลฯ รวมทั้งห้ามการใช้สารและยาปฏิชีวนะด้วย มุสลิมสามารถบริโภคเนื้อแพะที่ผ่านการเชือดตามหลักศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันมีองค์กรหลายองค์กรที่พยายามคิดหาวิธีการเชือดขึ้นมา โดยให้เหตุผลว่า วิธีการเชือดตามหลักศาสนา อิสลามนั้นเป็นการทรมานสัตว์ ดังนั้น จากข้อมูลพบว่าการ เชือดแพะตามมาตรฐานสากลมีหลายวิธีซึ่งวิธีที่นิยม และเชื่อว่าแพะมีความเจ็บน้อยที่สุดคือ การใช้ปืนกล (captive bolt gun) ยิงบริเวณหน้าผากของแพะเพื่อทำให้สลบหรือตายก่อน หลังจากนั้นให้เอาโซ่มาผูกบริเวณข้อขาหลังให้หัวห้อยลงมาแล้วใช้มีดกรีดหนังบริเวณอก และแทงมีดเข้าไปในระหว่างช่องอกจนสุดความยาวของมีด บิดปลายมีดเล็กน้อย เพื่อให้ใบมีดตัดเส้นเลือดใหญ่ (carotid artery) และ เส้นเลือดดำ (jugular vein) เพื่อให้เลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็วหมดภายใน 5-7 นาที แต่เป็นวิธีที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม การเชือดแพะตามหลักศาสนาอิสลามและมาตรฐานสากลมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อลดความเจ็บและการทารุณแพะ ตลอดจนได้เนื้อคุณภาพดีปลอดภัยจากปนเปื้อนของเชื้อโรค เช่น การตัดเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดดำ มีวัตถุประสงค์ให้เลือดไหลออกจากเนื้อให้มาก และเร็วที่สุดเพื่อทำให้เนื้อมีรสชาดดี สามารถเก็บรักษาได้นาน ไม่เช่นนั้นจุลินทรีย์จะเจริญ
เติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้น


    หากเลือดยังมีอยู่ในเนื้อ และยังเป็นสาเหตุทำให้เนื้อเสียเร็วขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขัดแย้งกับการเชือดแพะตามหลักศาสนาอิสลามนั้น คือ ผู้เชือดต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น และมีความรู้ในเรื่องการเชือดแพะอย่างดี นอกจากนั้นแพะยังมีชีวิตอยู่ใน ขณะที่เชือด แต่การเชือดตามมาตรฐานสากลนั้นผู้เชือดไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาอิสลาม และแพะอาจตายหรือมีชีวิตในขณะที่เชือดก็ได้ การเชือดแบบนี้ถึงแม้ว่าเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของคนมุสลิมทั่วโลก วิธีการเลี้ยงแพะโดยทั่วไปนั้นเป็นแนวทาง การเลี้ยงแบบอิสลามอยู่แล้วเนื่องจากอาหารแพะเป็นพวกพืช เช่น หญ้า ต้นถั่ว เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และใบไม้ในท้องถิ่นที่มนุษย์ไม่สามารถสามารถใช้ประโยชน์ อาทิ เช่น ใบขนุน ใบกระถินเทพา ใบข่อยหรืออื่นๆ พืชเหล่านี้มีสรรพคุณทางสมุนไพรสามารถรักษาโรคแพะได้ เช่น ใบขนุน สามารถรักษาโรคบอดบวม และร้อนใน นอกจากนั้นยังทำให้แพะมีการเจริญเติบโตดีด้วย แต่หากจำเป็นต้องให้อาหารเสริมก็ให้ได้เฉพาะวัตถุดิบ อาหารที่มาจากพืชเท่านั้น การเลี้ยงแพะตามวิถีมุสลิมเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับวิถีชีวิตชนบท เนื่องจากเป็นวิธีเลี้ยงที่ง่ายและประหยัด รวมทั้งแพะยังเป็นสัตว์ที่เหมาะสมกับชุมชนชนบท เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายให้ลูกดก ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อยทนต่อสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดารได้ดี และยังสามารถใช้ ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร ดังนั้นการเลี้ยงแพะตามแนวทางมุสลิมนั้นสามารถพัฒนาเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย เพียงแต่ต้องคำนึงถึงอาหารที่แพะกินต้องเป็นสิ่งที่อนุญาตตามหลักศาสนา ดังที่กล่าวมาแล้วรวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้สาร และยาปฏิชีวนะ เพราะอาจมีการตกค้างในผลิตภัณฑ์ได้หากจำเป็นต้องใช้สารเหล่านั้นให้ใช้ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายทั้งแพะ และผู้บริโภค อีกทั้งแนวทางการเลี้ยงแพะแบบดังกล่าวนั้นยังเป็นการรับประกันถึงความปลอดภัยในการบริโภคได้อีกเช่นเดียวกัน


กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.เวคิน นพนิตย์ โปรเฟสชั่นแนล แอสโซซิเอทส ์แห่งประเทศไทยที่ได้ตรวจทานแก้ไขนิพนธ์ต้นฉบับ ขอบคุณ อาจารย์ฉันทนา รุ่งพิทักษ์ไชย ภาควิชาวิทยา-ศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิยาลัยราชภัฏยะลา ที่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมใน การเขียนบทความ และขอขอบคุณ อาจารย์อิน หนูจุล ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ได้ ตรวจทานบทคัดย่อภาษาอังกฤษ ในบทความนี้  บ้านอะลาง