การเพาะเลี้ยงครั่ง
ในประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงครั่งกันมานานแล้ว ตามหลักฐานพบว่ามีการค้าครั่งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากให้ผลผลิตสูง ปัจจุบันจึงนิยมเลี้ยงกันมาก ในภาคเหนือ เช่นจังหวัดแพร่ สุโขทัย น่าน ลำปาง ตาก เชียงราย พะเยาเชียงใหม่ ลำพูน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี เลย บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ มหาสารคามร้อยเอ็ด นครราชสีมา สกลนคร กาฬสินธุ์ สำหรับในภาคกลางตั้งแต่ประจวบคีรีขันธุ์ขึ้นไปสามารถเพาะเลี้ยงครั่งได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน เนื่องจากมีแมลงศัตรูรบกวนมาก และให้ผลผลิตต่ำสถิติการผลิตไม่แน่นอนแล้วแต่สภาพดินฟ้าอากาศแต่ละปี ในภาคเหนือผลผลิตสูงกว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บ้านอะลาง
ต้นไม้ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงครั่ง
การเลี้ยงครั่งกันทั่วโลกตามต้นไม้ไม่น้อยกว่า ๖๐ ชนิดสำหรับประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๓๐ ชนิด ซึ่งส่วนมากเป็นต้นไม้ในวงศ์เลกูมิโนซี (Laguminosae) ต้นไม้ที่จะใช้เลี้ยงครั่งให้ได้ผลดี ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของน้ำเลี้ยงของต้นไม้ กล่าวคือต้องมีคุณสมบัติเกือบเป็นกลาง คือ ๕.๘-๖.๐ และความหนาแน่นของน้ำเลี้ยงจะต้องอยู่ระหว่าง ๐.๑๔-๐.๑๗๒๘ ต้นไม้ชนิดเดียวกันบางต้นเลี้ยงครั่งได้ผลดี แต่บางต้นได้ผลไม่ดี ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพท้องถิ่นที่ปลูกและความแตกต่างในรายละเอียดของต้นไม้ด้วย เช่น ใบเล็ก ใบใหญ่ ใบเขียวอ่อน หรือเขียวแก่ สีของเปลือก เป็นต้น ในประเทศไทยนิยมใช้ต้นไม้ต่างชนิดกันเลี้ยงครั่ง ได้แก่ ก้ามปู ปันแถ สะแกนา ไทร พะยูง ถั่วแระ ตะคร้อทองกวาว พุทรา สีเสียดเทศ พะยอมดง แตงกวา คาง เปล้ากางขี้มอด มะเดื่ออุทุมพร เลียงผึ้ง หลังคำ รัง มะคำไก่ ฉนวนถ่อน มะแฮะนก เครือกำจาย ปอ ยาบอินเดีย พุทราป่า ไฮหมี้(ไทรใบขนุน) เป็นต้น
การตัดครั่งทำพันธุ์
การตัดครั่งทำพันธุ์ที่ถูกวิธี เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการเพาะเลี้ยงครั่ง กสิกรอาจทำการตัดเก็บครั่งพันธุ์ลงพร้อมกับครั่งดิบที่เป็นสินค้าขาย ตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็ได้ หรือจะตัดไม่พร้อมกันก็ได้ โดยตัดครั่งที่จะซื้อขายกันลงเสียก่อนจะแก่เต็มที่และมีลูกครั่งออกมาจากรัง สำหรับครั่งที่จะเก็บไว้เป็นครั่งพันธุ์ให้ปล่อยทิ้งไว้บนต้นไม้ก่อนจนกว่าครั่งจะเริ่มออกตัวอ่อน หรือก่อนออกตัวอ่อน ๓-๕ วัน จึงตัดลงทำพันธุ์สำหรับปล่องครั่งเพาะเลี้ยงรอบต่อไป การปล่อยครั่งเพาะเลี้ยง ต้นไม้ที่จะปล่อยครั่งเพาะเลี้ยง จะต้องได้รับการรานกิ่งและตบแต่งกิ่งล่วงหน้าให้ถูกวิธีการ ระยะเวลาในการตัดแต่งกิ่งล่วงหน้าขึ้นอยู่กับชนิดของต้นไม้ ต้นไม้บางชนิดต้องตัดแต่งกิ่งล่วงหน้าเพียง ๖ เดือน และบางชนิดต้องใช้เวลาถึง ๑๘ เดือน เพื่อให้ได้กิ่งอวบอ่อนพอดี ลูกครั่งไม่สามารถใช้งวงเจาะไชลงไปบนเปลือกที่แข็งๆได้ ดังนั้นจึงอาศัยดูดกินบนกิ่งที่อวบอ่อน การตัดแต่งกิ่งนอกจากจะทำให้ได้กิ่งที่อวบอ่อนแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ให้เรือนยอดกว้าง มีกิ่งแตกใหม่จำนวนมาก เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับครั่งเกาะมากๆ จะได้มีผลผลิตครั่งสูง
ครั่งพันธุ์ที่ใช้ปล่อย
จะต้องได้รับการคัดเลือกเฉพาะครั่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ปราศจากแมลงรบกวน และแก่พอดี ก่อนที่ลูกครั่งจะคลานออกจากซากรังเก่าไม่เกิน ๗ วัน โดยสังเกตจากผิวภายนอกรังครั่งจะมีรอยแตกร้าวเป็นตอนๆ ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ก่อนจะถึงเวลาที่ครั่งจะออกตัวอ่อน จะสังเกตเห็นจุดสีเหลืองส้มโตขึ้นบริเวณผิวภายนอก เมื่อบิรังครั่งภายใน จะเห็นช่องว่างสำหรับลูกครั่งเตรียมพร้อมที่จะคลานออกจากซากรังเก่า
ตัดครั่งพันธุ์เป็นท่อน ยาวท่อนละประมาณ ๖-๗ นิ้วแล้วนำไปห่อฟาง และผูกเป็นคู่ๆ ไปแขวนคร่อมไว้บนกิ่งไม้ที่จะใช้เลี้ยงครั่ง หรือใช้ท่อนครั่งพันธุ์ผูกให้ขนานกับความยาวของกิ่งปล่อยให้ตัวอ่อนคลานไป ตามความยาวของกิ่ง และฝังงวงลงไปที่เปลือกของกิ่งไม้เพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้ เมื่อลูกครั่งกระจายเต็มกิ่งแล้ว ย้ายพันธุ์ไปกิ่งอื่นๆ ต้องปฏิบัติภายในเวลา ๒ สัปดาห์ แล้วจึงเก็บครั่งพันธุ์ลง ปริมาณครั่งพันธุ์ที่ใช้ปล่อยจะต้องพอดีกับขนาดของต้นไม้ด้วย ถ้าใช้ครั่งพันธุ์น้อยไปก็จะได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มกัน แต่ถ้าใช้ครั่งมากเกินไปต้นไม้ก็จะตาย ทั้งนี้ต้องการอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ โดยทั่วๆไปครั่งพันธุ์ยาว ๑ ฟุต จะกระจายไปบนกิ่งไม้ ๑๒-๒๕ ฟุตหรือครั่งพันธุ์ ๑ กิโลกรัมจะยาวประมาณ ๕-๑๐ ฟุต ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ตะคร้อ ก้ามปู ต้องใช้ครั่งพันธุ์ถึง ๕๐ กิโลกรัมเป็นต้น บ้านอะลาง
การตัดเก็บครั่ง
ชีพจักรของแมลงครั่งมีระยะเวลา ๖ เดือน ในปีหนึ่งจึงมีการตัดเก็บครั่ง ๒ ครั้ง คือ การตัดครั่งเพาะเลี้ยงในรอบฤดูร้อนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และครั่งรอบฤดูฝนระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นการตัดเก็บเพื่อซื้อขายและทำพันธุ์เพาะเลี้ยง ครั่งที่ตัดเก็บลงจากต้นไม้นั้นต้องตัดก่อนที่ลูกครั่งออกเป็นตัวประมาณ ๗ วัน เริ่มตัดกิ่งไม้ที่ครั่งจับทำรังจากกิ่งยอดๆ ลงมาหากิ่งที่อยู่ตอนล่าง แล้วรวบรวมทอนกิ่งไม้ที่ตัดเฉพาะที่มีครั่งจับแยกไว้ต่างหากคัดเลือกครั่งที่สมบูรณ์ปราศจากแมลงทำลายแยกไว้เป็นครั่งพันธุ์ ส่วนที่เหลือเป็นครั่งดิบที่นำมาซื้อขายกัน ให้รีบกระเทาะครั่งดิบออกจากกิ่งไม้เสียโดยเร็ว แล้วนำไปผึ่งตากให้แห้ง โดยเฉลี่ยให้บางๆ อย่าวางทับถมกัน เพราะจะทำให้ครั่งดิบติดกันเป็นพืด ยากต่อการทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ และทำให้เป็นครั่งเม็ดได้ยากนอกจากนี้คุณภาพครั่งจะเสื่อมลงด้วย การเก็บครั่งดิบไว้ในโรงเก็บครั่งจะต้องฉีดยาป้องกันแมลงด้วย เนื่องจากมีแมลงศัตรูหลายชนิด โดยเฉพาะปลวกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยการเก็บครั่งดิบไว้เป็นเวลานานจะทำให้ครั่งเสื่อมคุณภาพดังนั้นจึงควรแปรสภาพเป็นครั่งเม็ดซึ่งเก็บได้ทนนานกว่า
การคาดคะเนวันที่ลูกครั่งออกตัว
การคาดคะเนวัดตัดครั่งทำพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากถ้าตัดครั่งที่ยังไม่แก่ลงทำพันธุ์นั้น จะทำให้ครั่งตัวเมียอ่อนแอและมีจำนวนน้อย และถ้าหากตัดล่วงหน้าเป็นเวลานาน โดยที่ครั่งยังไม่แก่ จะไม่มีลูกครั่งออกมา หรืออาจมีเพียงเล็กน้อยทำให้ผลเสียหายในการเพาะเลี้ยงครั่งได้ แต่ถ้าตัดครั่งลงทำพันธุ์ช้าเกินไป ปล่อยไว้จนลูกครั่งคลานออกมาจากรังหมดแล้วจึงตัด ลูกครั่งก็จะตายไป และไม่มีลูกครั่งเหลือพอปล่อยเพาะเลี้ยงในรอบต่อไป
การขนส่งครั่งพันธุ์
ครั่งพันธุ์ในระหว่างขนส่งไปไกล ให้บรรจุลงในเข่งตาโปร่งหรือตะกร้าไม้ไผ่ แล้วทอนเป็นท่อนๆ วางอย่าให้ทับกันแน่น โดยวางท่อนครั่งพันธุ์ให้โปร่งไขว้ไปมาเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ และเอาฝาเปิดปากเข่งหรือภาชนะไว้อย่างโปร่งๆ ถ้าระยะทางไกลมากให้ตัดครั่งพันธุ์ก่อนออกตัวได้ไม่เกิน ๘-๑๐ วัน