"ทริแอนต้า" กระต่ายดาวรุ่ง จาก ฟาร์ม เคบี แรบบิท
ในงาน PET EXPO ที่จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ นอกจากจะครบครันด้วยงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งถือโอกาสในวาระครบรอบ 10 ปี ของงานนี้ ไฮไลต์เด็ดยังอยู่ที่ "กระต่าย" สายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการรับรองเป็นกระต่ายสายพันธุ์แท้ลำดับล่าสุด ลำดับที่ 46 จาก ARBA (American Rabbit Breeders Association) หรือสมาคมกระต่ายแห่งอเมริกาที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และใช้เกณฑ์ของ ARBA เป็นหลักในการตัดสินการประกวดกระต่ายในระดับนานาชาติ บ้านอะลาง
กระต่ายน้องใหม่ของวงการกระต่ายโลกดังกล่าว คือ กระต่ายสายพันธุ์ "ทริแอนต้า" (Thrianta) มีต้นกำเนิดและประวัติมายาวนาน นับตั้งแต่ปี 1925 ในประเทศเยอรมนี โดยผู้เลี้ยงกระต่ายทดลองนำกระต่ายสายพันธุ์โกลเด้นมาผสมกับกระต่ายสีฮาลีควิน จนได้ลูกกระต่ายที่มีขนสีเหลือง จากนั้นเป็นต้นมาจึงมีการทดลองผสมกระต่ายสีและสายพันธุ์ต่างๆ อาทิ ซิลเวอร์ฟอว์น ฮาวาน่า แบล๊คแทน และ นิวซีแลนด์เรด จนได้ลูกกระต่ายสีทอง ที่เรียกอีกชื่อว่า Gold of Saxony
ขณะเดียวกันทางประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ได้พัฒนากระต่ายไปในทางเดียวกัน โดยผลลัพธ์ที่ได้มาเป็นกระต่ายสีส้มทอง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกระต่ายสายพันธุ์ ทริแอนต้า ต่อมา ในปี 1987 นายบ๊อบ เปติต ชาวอิลลินอยส์ ผู้พัฒนากระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ ดวอร์ฟสีแดง พร้อมกับเพื่อนชาวไอโอว่า ได้เสาะแสวงหากระต่ายขนาดเล็กที่มีขนสีแดงเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด โดยสั่งซื้อกระต่ายทริแอนต้านำเข้าจากประเทศอังกฤษมาในปี 1996 จากนั้นได้พัฒนาสายพันธุ์ จนสามารถขอการรับรองสายพันธุ์ทริแอนต้า จากสมาคม ARBA ได้สำเร็จ ในปี 2006 และกำลังเป็นที่จับตามองของคนรักกระต่ายทั่วโลกในฐานะดาวรุ่งดวงใหม่
เหตุที่ทำให้ทริแอนต้า สามารถดึงดูดความสนใจจากคนรักกระต่ายได้ เป็นเพราะ "สีขน" ซึ่งโดดเด่นด้วยสีน้ำตาลแดง ส่งประกายเด่นชัดยามโดนแสงไฟและแสงแดด ทริแอนต้าในต่างประเทศหลายตัวให้สีแดงเด่นชัดมาก จึงได้สมญานามว่า "Fire of the Fancy" หรือ "เพลิงแห่งจินตนาการ"
แล้วเจ้าเพลิงแห่งจินตนาการพันธุ์นี้ จะหลุดลอดสายตาคนรักกระต่ายอย่าง คุณบาส หรือ คุณวุฒิชัย ทองนพเก้า ประธานชมรมผู้เพาะเลี้ยงกระต่ายสวยงามแห่งประเทศไทยได้อย่างไร หลังจากทริแอนต้าได้รับการรับรองว่าเป็นสายพันธุ์แท้ได้เพียง 2 ปี คุณบาส ก็สั่งนำเข้ามาทดลองเลี้ยงในไทย เพื่อตรวจสอบว่าทริแอนต้าเจริญติบโตได้ดี หรือให้ขนที่สวยงามเช่นในต่างประเทศได้หรือไม่
"เห็นกระต่ายพันธุ์นี้ครั้งแรก สีสะดุดตามาก ขนมีสีสด ยิ่งตัวแกรนด์แชมป์ หน้าตาน่ารักมาก ที่จริงแล้วทริแอนต้ามีต้นกำเนิดจากเยอรมัน เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์หลายพันธุ์ เพื่อให้เกิดยีนสีที่เด่นชัดขึ้น แต่ที่อเมริกานำมาพัฒนาสายพันธุ์ต่อเพื่อให้กระต่ายมีหน้าตาน่ารักขึ้น พัฒนาโครงสร้างลำตัวให้กระชับ หัวกลม หน้าสั้น ตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์กระต่ายที่ดี ยิ่งพอเราเห็นอุปนิสัยของทริแอนต้าว่าค่อนข้างเชื่อง ไม่ก้าวร้าว ผมก็ตัดสินใจนำเข้ามาทดลองเลี้ยงเลย" คุณบาส เผยความประทับใจ "ชงชา" กระต่ายวัย 7 เดือน คือทริแอนต้าตัวแรกที่คุณบาสนำเข้ามาทดลองเลี้ยงในราคาหลายหมื่นบาท ปัจจุบัน ชงชา อายุได้ 2 ปีแล้ว ผลปรากฏว่าเจริญเติบโตได้ดี และมีขนที่สวยงามเป็นที่น่าพอใจ คุณบาสจึงนำเข้าทริแอนต้ามาอีกตัวเพื่อทดลองจับคู่ผสมพันธุ์ ขณะที่ชื่อเสียงของกระต่ายพันธุ์นี้ในประเทศไทยยังเงียบสนิท ปัจจุบัน คุณบาสจึงกลายเป็นผู้เลี้ยงรายเดียวของไทยที่นำเข้าทริแอนต้าสายพันธุ์แท้มาเลี้ยงไว้ในครอบครอง
"ผมเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ให้ได้ดังใจ เมื่อนำเข้ามาแล้ว ผมต้องนำมาเลี้ยงมาพัฒนาสายพันธุ์ต่อ เพราะผมมองว่าเป็นเรื่องสนุกและท้าทายที่จะทำให้สัตว์เลี้ยงของเราออกมาเป็นแบบที่เราต้องการด้วยตนเอง อย่างเมื่อก่อนผมเลี้ยงสุนัข ผมก็พยายามจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อให้สุนัขมีรูปร่างหน้าตาแบบที่ผมต้องการมากที่สุด แล้วผมก็ทำได้ พอมาเลี้ยงกระต่ายผมก็ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะกระต่ายมีหลายสายพันธุ์ มีหลายสี และโตเร็ว เพาะขยายพันธุ์ได้เร็ว เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นวงรอบในการพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างได้เร็ว ซึ่งมันน่าสนุก ผมเริ่มเลี้ยงกระต่ายมาตั้งแต่ปี 2544 ตอนนั้นวงการกระต่ายแทบไม่มีสายพันธุ์แท้เลย มีแต่ลูกผสม ที่มีอยู่ในตลาดคือ หน้าตาคล้ายพันธุ์อะไร ก็จะบอกว่าเป็นพันุธุ์นั้น แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เมื่อก่อนโดนหลอกมาก่อน ที่ฮิตมากในช่วงนั้นคือ สายพันธุ์ขนยาว แต่สุดท้ายกลายเป็นลูกผสมที่ออกลูกมาแล้วมีขนยาว ช่วงนั้นน้อยมากจริงๆ ที่จะหากระต่ายแท้ในไทย"
คุณบาส เล่าต่อว่า จากบทเรียนในการถูกหลอกให้ซื้อกระต่ายพันธุ์เทียมเมื่ออดีต ได้เกิดเป็นแนวความคิดที่ทำให้เขาเลือกเลี้ยงกระต่ายสายพันธุ์แท้มากขึ้น เนื่องจากกระต่ายสวยงามที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งหากเป็นสายพันธุ์แท้จะมีความสวยงามมาก ทั้งโครงสร้างและลักษณะขน ราวปี 2546 คุณบาส จึงเริ่มนำเข้ากระต่ายจากต่างประเทศมาเลี้ยงเอง จนปัจจุบันจำนวนกระต่ายเพิ่มมากขึ้นถึง 300 ตัว คุณบาสจึงกลายเป็นผู้เลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายเต็มตัวในนามของ ฟาร์มกระต่าย "เคบี แรบบิท" (KB rabbit) ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 50/3 หมู่ที่ 6 ตำบลพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี โทร. (086) 562-5312 หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.kbrabbit.com. มีกระต่ายหลากสายพันธุ์ อาทิ มินิ ลอป, ฮอลแลนด์ ลอป, เนเธอร์แลนด์ เดอวาร์ฟ, อเมริกัน แฟนซี ลอป, เจอร์ซี่ วูลี่, ดัตช์, มินิ เร็กซ์ และพันธุ์น้องใหม่ของเขาก็คือ ทริแอนต้า นั่นเอง
"ทริแอนต้า ที่ดี ต้องดูตอนที่กระต่ายหมอบ จะเห็นรูปร่างเป็นทางทรงโค้ง ไหล่ต้องแคบ สะโพกต้องกว้าง แต่การเลือกดูกระต่ายที่แม่นยำ ต้องอาศัยวิธีสัมผัสด้วย เวลาประกวดกระต่ายจะเห็นว่ากรรมการต้องใช้มือคลำดูโครงสร้างกระดูกของกระต่าย เพื่อดูว่ากระดูกหนาไหม กะโหลกใหญ่แค่ไหน แล้วจึงดูสีขนที่เข้มชัด แต่กระต่ายที่เขามาเลี้ยงในบ้านเราจะมีข้อเสียเปรียบอยู่อย่างหนึ่งคือ สีขนอาจจะอ่อนกว่า เนื่องจากสีขนของกระต่าย ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้นด้วย อย่างทริแอนต้า พอมาเลี้ยงในบ้านเราสีขนก็จะเปลี่ยนไป แต่สามารถเลี้ยงในบ้านเราได้ และไม่ต้องอยู่ห้องแอร์ด้วย แต่อากาศต้องถ่ายเทดี อาหารดี ผมใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยมนำเข้าจากอเมริกา หญ้าแห้ง ก็ต้องมั่นใจว่าสะอาด จะเป็นกระต่ายสายพันธุ์ใดก็แล้วแต่ ควรให้อาหารของกระต่ายโดยตรงดีที่สุด น้ำ ก็ต้องสะอาดด้วย"
คุณบาส บอกว่า เวลานี้ยังอยู่ระหว่างทดลองเลี้ยงทริแอนต้าในประเทศก่อน แล้วจึงนำสู่ขั้นตอนการทดลองจับคู่ผสมพันธุ์ ตอนนี้ถ้าใครอยากได้ลูกกระต่ายทริแอนต้ามาเลี้ยงคงต้องอดใจรอไปก่อน หรือไม่ก็ต้องลงทุนสั่งตรงจากต่างประเทศเหมือนคุณบาส ราคาราวๆ ตัวละ 40,000 บาท เท่านั้นเอง (ตาลุกวาว) แต่เหตุใดหนอ! สัตว์เลี้ยงสายพันธุ์ดีมักต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วคนต่างประเทศมองกระต่ายบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง?
"ทุกวันนี้วงการกระต่ายพัฒนาไปมาก มีการจัดการประกวดกระต่ายมากขึ้น ซึ่งมาตรฐานกระต่ายของเมืองไทยเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติแล้วว่า มีการพัฒนาที่ดีมากขึ้น เราเป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น กระต่ายสวยๆ ของเอเชียที่ต่างชาติยอมรับลำดับแรกคือ ญี่ปุ่น รองลงมาเป็นไทย แล้วก็มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตามลำดับ ตอนนี้มีบรีดเดอร์จากอเมริกาเริ่มส่งกระต่ายมาเวียดนามแล้วด้วย เรียกได้ว่าตอนนี้กระต่ายในเอเชียเป็นที่แพร่หลายมาก กระต่ายที่ซื้อ-ขาย แพงที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น ราคาเป็นพันเหรียญ"
คุณบาส บอกต่อว่า เหตุที่กระต่ายเกรดประกวดบ้านเรายังเป็นรอง ทั้งที่ได้รับคำชมเรื่องมาตรฐานกระต่ายที่มีพัฒนาการดีขึ้น คุณบาส ตอบว่า เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจัดงานประกวดสัตว์เลี้ยงอย่างมาก แม้แต่กระต่ายเองก็ยังเป็นที่นิยม เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีพื้นที่ของที่อยู่อาศัยค่อนข้างจำกัด จึงต้องการสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก แต่การประกวดกระต่ายในเมืองไทยยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ
"พอบ้านเราสามารถพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายได้แล้ว ข้อจำกัดคือ เราส่งกระต่ายกลับไปประกวดที่อมริกาไม่ได้ เราจึงต้องเชิญคณะกรรมการเข้ามาตัดสินในบ้านเรา กระต่ายที่นี่จึงจะมีโอกาสได้รับการรับรองเป็นสายพันธุ์แท้จากสมาคม หรือมีมาตรฐานเทียบเท่ากับกระต่ายของอเมริกา แต่การจัดประกวดในบ้านเรามีเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี ผมเชื่อว่าหากการประกวดกระต่ายเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ก็จะมีการแข่งขัน มีการพัฒนาไปในทางที่ดี" คุณบาส เผยความหวัง ขณะที่ปัจจุบันเขาคือพ่องานคนสำคัญในการจัดการประกวดกระต่าย โดยเชิญกรรมการชาวต่างชาติมาช่วยตัดสิน และให้ความรู้ในการอบรมต่างๆ เลี้ยงกระต่ายด้วยใจรัก และทุ่มเทเพื่อวงการขนาดนี้ คุณบาสบอกบางเหตุผลทิ้งท้ายว่า "ผมอยากเห็นฟาร์มที่เคยหลอกคนอื่นมาก่อนได้พัฒนาตนเอง หรือแม้แต่คนที่เคยถูกหลอกมาก่อนได้พัฒนาตัวเองด้วย" บ้านอะลาง