มะเขือเทศรูปหัวใจ (Tomatoberry)
จิรวรรณ โรจนพรทิพย์
ทุกวันนี้ กระแสการดูแลสุขภาพกำลังมาแรงทีเดียว การรับประทานผักก็เป็นอีกทางเลือกของการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมจากคนไทยจำนวนมาก เพราะได้รับสารอาหารมากมาย รับประทานแล้วไม่อ้วนอีกต่างหาก แต่คนบางกลุ่มยังไม่นิยมรับประทานผัก เพราะมีรสชาติไม่ถูกปาก ไม่โดนใจ บริษัท เจียไต๋ จำกัด จึงได้พัฒนามะเขือเทศพันธุ์ใหม่ “มะเขือเทศรูปหัวใจ พันธุ์โทเมโทเบอร์รี่ (Tomatoberry)” ที่มีสีแดงสะดุดตา ดึงดูดให้ผู้คนที่ใส่ใจสุขภาพ หันมารับประทานผักกันมากขึ้น
บ้านอะลาง
พันธุ์ทนร้อน และการจัดการที่ดีคือกุญแจสำคัญ
คุณสุรนาท องนิธิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจครบวงจร บริษัท เจียไต๋ จำกัด เล่าว่า มะเขือเทศรูปหัวใจ (Tomatoberry) พัฒนาพันธุ์โดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นคู่ค้าของเจียไต๋ ที่ตั้งใจพัฒนามะเขือเทศสายพันธุ์นี้ให้มีรูปลักษณ์แปลกใหม่ ลักษณะคล้ายรูปหัวใจหรือลูกสตรอเบอรี่ สีแดงสด เพิ่มความหวาน และลดความเปรี้ยวลง (Acid) เพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มผู้ใหญ่ วัยทำงาน เยาวชน วัยรุ่น ให้หันมารับประทานมะเขือเทศสดกันมากขึ้น
แนวคิดดังกล่าว ตรงกับความต้องการของเจียไต๋ที่ต้องการเห็นคนไทยมีโอกาสบริโภคผักที่มีรสชาติอร่อย คุณภาพดี เจียไต๋จึงร่วมมือกับพันธมิตรชาวญี่ปุ่น พัฒนามะเขือเทศรูปหัวใจ ซึ่งเติบโตดีในอุณหภูมิหนาวเย็น กลายเป็น “สายพันธุ์ทนร้อน” ผนวกกับ “การจัดการที่ดี” จนสามารถปลูกมะเขือเทศรูปหัวใจได้ในสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทยได้สำเร็จตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน และเริ่มผลิตสินค้าออกวางจำหน่ายตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ปรากฏว่า กลายเป็นสินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะสินค้าโดนใจกลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย
โรงเรือนระบบปิด
การจัดการง่าย ปลูกได้ตลอดปี
คุณพิพัฒน์พงษ์ ยงขามป้อม ผู้จัดการฟาร์มปากช่อง ของ เจียไต๋ โทร. (085) 305-7041 พาไปชมแปลงปลูกมะเขือเทศรูปหัวใจ ภายในโรงเรือนระบบปิด เรียกว่า โรงเรือนหลังคาฟันเลื่อย (Saw Tooth Greenhouse) เพราะมีลักษณะหลังคาโค้งคล้ายฟันเลื่อย หน้ากว้างช่วงละ 6.4 เมตร แต่ละหลังเชื่อมต่อด้วยรางน้ำเหล็ก โรงเรือนนี้สามารถระบายอากาศได้สูงทั้งด้านข้างและด้านบน เพราะมีหน้าต่างกว้าง 1.5 เมตร บริเวณหลังคา ส่วนด้านข้างติดมุงตาข่ายกันแมลง ช่วยเพิ่มพื้นที่ระบายอากาศร้อน และถ่ายเทอากาศเย็นหมุนเวียนเข้าสู่โรงเรือนได้ง่าย เหมาะสำหรับปลูกพืชผัก ที่ต้องใช้พื้นที่ในการผลิตครั้งละมากๆ โดยเฉพาะพืชเถาเลื้อยที่ต้องการขึ้นค้าง เช่น มะเขือเทศเชอร์รี่ พริกหวาน แตงโม เมล่อน แคนตาลูป ฯลฯ
คุณพิพัฒน์พงษ์ เล่าว่า มะเขือเทศรูปหัวใจ อยู่ในกลุ่มมะเขือเทศเชอร์รี่ (Cherry Tomato) มีลักษณะเติบโตแบบเลื้อย มะเขือเทศประเภทนี้ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะสามารถเจริญเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด มีกิ่งแขนงขนาดใกล้เคียงกับลำต้น 2-3 แขนง และมีแขนงย่อยได้อีกไม่จำกัด ช่อดอกแรกเกิดระหว่าง ข้อที่ 8 และ 9 ช่อดอกต่อมาจะเกิดขึ้นทุกๆ 3 ข้อ ลำต้นอาจจะสูงหรือยาวกว่า 10 เมตร
มะเขือเทศ สามารถเจริญเติบโตทางด้านลำต้น ใบ และออกดอกได้ดีตลอดทั้งปี แต่การติดผลของมะเขือเทศต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิกลางวันที่เหมาะสม อยู่ที่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางคืน ประมาณ 16-20 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส จะทำให้มะเขือเทศไม่ติดผลหรือติดผลได้น้อยมาก ฝนและความชื้นสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรคทางใบและทางรากระบาดรุนแรง
ดังนั้น ฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่ในช่วงฤดูหนาว โดยมีช่วงหยอดเมล็ดเพาะกล้า อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งนอกจากสภาพอากาศจะเหมาะสมต่อการติดผล ทำให้ได้ผลผลิตสูงแล้ว ยังมีศัตรูพืชรบกวนน้อย ต้นทุนการผลิตจึงต่ำกว่าการปลูกในฤดูอื่นด้วย
แปลงปลูกมะเขือเทศรูปหัวใจอาศัยดูแลจัดการเช่นเดียวกับมะเขือเทศทั่วไป จะใช้ระยะเวลาเพาะกล้า 25-30 วัน ปลูกอีก 50-60 วัน เริ่มออกดอก ประมาณ 30 วัน ต้นมะเขือเทศเชอร์รี่จะมีอายุการปลูก ประมาณ 7-8 เดือน อายุเก็บเกี่ยวนาน 3-4 เดือน
ทุกวันนี้ เจียไต๋ ใส่ใจดูแลการผลิตมะเขือเทศรูปหัวใจ บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยความพิถีพิถันทุกขั้นตอน เริ่มจากคัดเมล็ดพันธุ์อย่างดี มาปลูกในโรงเรือนและปลูกแบบไม่ใช้ดิน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี แต่ละวัน คนงานจะเก็บบันทึกข้อมูลภายในฟาร์มอย่างละเอียด เช่น อุณหภูมิสูงสุด ต่ำสุดแต่ละวัน ความเข้มแสง ความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ ค่าความชื้นภายในวัสดุปลูก วัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำ (pH) และค่าการนำไฟฟ้าของสารละลาย (EC) บันทึกการพบโรคและแมลงภายในแปลงปลูก บันทึกการใช้ปุ๋ย ยา และสารกำจัดศัตรูพืช บันทึกการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อต้น รวมทั้งตรวจเช็กคุณภาพผลผลิตก่อนเก็บเกี่ยว คือวัดค่าความหวาน (เปอร์เซ็นต์บริกซ์) และชั่งน้ำหนักผล
สำหรับแปลงปลูกมะเขือเทศรูปหัวใจที่เข้าเยี่ยมชมในครั้งนี้ คุณพิพัฒน์พงษ์ เล่าว่า เริ่มเพาะกล้า วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ย้ายปลูก วันที่ 1 สิงหาคม 2555 โดยปลูกในระยะ 50x50 เซนติเมตร โดยใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก ใช้ระบบน้ำแบบขาปักน้ำหยด อัตราการไหล 3 ลิตร ต่อชั่วโมง ให้น้ำ 1.4 ลิตร ต่อต้น ต่อวัน แบ่งให้น้ำ วันละ 7 รอบ เริ่มตั้งแต่ 08.00-14.00 น. ปริมาณที่ให้ต่อรอบ 200 มิลลิลิตร ต่อรอบ ต่อต้น และให้ปุ๋ยไปพร้อมระบบน้ำ 5 รอบ ต่อวัน จาก 7 รอบ ค่า ec = 1.6 ms/cm, ค่า pH ของน้ำ = 6.5 และเริ่มเก็บผลผลิต ตุลาคม 2555 จนถึงเดือนมกราคม 2556 ให้ผลผลิตโดยเฉลี่ย ต้นละ 3 กิโลกรัม
คุณพิพัฒน์พงษ์ เล่าว่า ขณะนี้ ต้นมะเขือเทศยาว 10 กว่าเมตร สามารถเติบโตได้ 15-20 เมตร เพราะโรงเรือนแห่งนี้ติดตั้งอุปกรณ์เชือกสลิงสำหรับดึงให้ต้นมะเขือเทศเอนไปตามความยาวของเชือก ทำให้ดูแลจัดการได้สะดวก แม้จะเป็นพันธุ์ทนร้อน แต่หากอุณหภูมิกลางวันสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ก็ทำให้มะเขือเทศพันธุ์นี้ติดผลได้ยาก จึงต้องใส่ใจดูแลโดยเฉพาะการให้น้ำ และฉีดพ่นฮอร์โมนเพื่อช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผลของมะเขือเทศให้มากขึ้น คนงานจะคอยดูแลตัดแต่งกิ่ง เพื่อเลี้ยงต้นให้สมบูรณ์ที่สุด โดยเลี้ยงผลมะเขือเทศเฉลี่ย ช่อละ 12-15 ลูก โดยธรรมชาติ มะเขือเทศจะคลายน้ำบริเวณขั้ว ดังนั้น เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต จะเด็ดให้มีส่วนขั้วติดกับผลมะเขือเทศเพื่อช่วยยืดอายุความสดไว้ได้นานๆ ช่วงเช้าคนงานจะเลือกเก็บผลสีแดงสด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร และนำเข้าห้องเย็นทันทีเพื่อเก็บรักษาความสดก่อนจำหน่าย บ้านอะลาง
เจียไต๋ เดินหน้า
ขยายกำลังผลิตเอาใจตลาด
มะเขือเทศรูปหัวใจ เปี่ยมด้วยสารสีแดงไลโคปีน (Lycopene) ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งมากกว่าเบต้าแคโรทีนถึง 2 เท่า สารไลโคปีนช่วยลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ มะเขือเทศรูปหัวใจยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เอ และวิตามิน ซี มีในปริมาณสูง แถมมีรสชาติที่อร่อยกว่ามะเขือเทศธรรมดา เพราะมีกลิ่นหอม รสหวาน เนื้อหนา เปลือกบาง เนื้อแน่น ไร้เมล็ด รับประทานแทนผลไม้ได้
เจียไต๋ มีเป้าหมายผลิตมะเขือเทศรูปหัวใจเพื่อทดแทนการนำเข้ามะเขือเทศเชอร์รี่จากเมืองนอก ที่จำหน่ายในราคาสูงถึงแพ็กละ 70-100 บาท และมีความหวาน ประมาณ 8 บริกซ์ แต่เจียไต๋สามารถผลิตมะเขือเทศรูปหัวใจออกขายในราคาเพียงแพ็กละ 39 บาท แถมมีความหวานมากกว่า 10 บริกซ์ จึงถือเป็นสินค้าทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่นิยมรับประทานผักเพื่อสุขภาพ
คุณสุรนาท เล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน เจียไต๋ ปลูกมะเขือเทศรูปหัวใจภายในฟาร์มแห่งนี้ จำนวน 3,944 ต้น ปีนี้บริษัทมั่นใจศักยภาพการผลิต โดยวางแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 10,000 ต้น เพื่อรองรับการผลิตให้ครอบคลุมผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ เจียไต๋ ตั้งใจพัฒนาวิธีการปลูกให้ทันสมัย มีรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการในอนาคตที่เราเชื่อว่าต้องมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเจียไต๋จะถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรได้นำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในลักษณะคอนแทร็กฟาร์มมิ่งได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างรายได้สำหรับเกษตรกร สำหรับผู้ที่สนใจมะเขือเทศรูปหัวใจ พันธุ์โทเมโทเบอร์รี่ สามารถเลือกซื้อได้ที่ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรี่ยม ห้างสรรพสินค้าพารากอน ฟู้ดแลนด์ และ ซีพี เฟรชมาร์ท ทุกสาขาทั่วประเทศ