ไก่ตะเภาทอง เลี้ยงง่าย โตเร็ว


          “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์”        
นายสุชาติ สงวนพันธุ์ และทีมนักวิจัย ได้แก่ นางภคอร อัครมธุรากุล และนางสาวเรญา ม้าทอง และนางจุฑามาศ จงรุจิโรจน์ชัย  จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีก สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้วิจัยและผสมข้ามพันธุ์ ระหว่าง ไก่ตะเภาทอง กับ ไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ไก่พื้นเมืองจีน จนได้สายพันธุ์ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ไก่อินทรีย์ปลอดสารพิษ มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม หวานหอม นำมาประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น นึ่ง ต้ม ตุ๋น หรือนำไปทำข้าวมันไก่ และยังแปรรูปได้หลากหลายประเภทอีกด้วย
       
นายสุชาติ หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวถึงแนวคิดในการผลิต“ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ว่า เนื่องจากตลาดและผู้บริโภค ยังมีความต้องการบริโภคเนื้อไก่อย่างต่อเนื่อง และต้องการอาหารปลอดภัย ที่มีขบวนการ ผลิตแบบธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน (Organic food) ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันประชาชนทั่วไปหรือผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องสุขภาพ และเน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น จึงได้คิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ที่ที่เหมาะและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค บ้านอะลาง

จากนั้นได้ทำการวางแผนการผสมพันธุ์ โดยคัดเลือกพ่อพันธุ์ - แม่พันธุ์ ระหว่าง “ไก่ตะเภาทอง” กับ “ไก่พันธุ์สามเหลือง” หรือ “ไก่ซาอึ๊ง” ไก่พื้นเมืองของจีน (พ่อตะเภาทอง+แม่สามเหลือง) ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์มีความคงทนต่อสภาวะอากาศที่แปรปรวนได้ดียี่ยม รวมถึงมีเนื้อนุ่ม หอม กรอบอร่อยเหมือนกัน และได้ทำการผสมพันธุ์จนประสบความสำเร็จ สามารถพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ ให้มีลักษณะพันธุ์ที่ดีมีความโดดเด่น จนได้ไก่ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์”

นายสุชาติ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” เป็นไก่ลูกผสมสองสายพันธุ์ โดยลักษณะทั่วไป มีรูปร่างสมส่วนสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีหงอนแบบจักร และหงอนหินแบบไก่พื้นเมือง ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เนื้อนุ่ม หวานกรอบมากเป็นเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ นอกจากนี้ยังเลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนโรคเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองของไทย

การเลี้ยงและการดูแล ในระยะแรกเกิดต้องกกให้ความอบอุ่นเช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ทั่วไป ประมาณ 1- 2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ส่วนวิธีการให้อาหาร ให้น้อยแต่บ่อย ๆ ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้ดีมีความแข็งแรง และมีน้ำสะอาดให้ลูกไก่อย่างเพียงพอ เมื่อลูกไก่มีอายุประมาณ 15 - 20 วัน ควรขยายพื้นที่เพิ่ม (พื้นที่ขนาด 3x4 เมตร= 12 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 100 ตัว) เมื่อไก่มีอายุได้ 3 – 4 สัปดาห์ เริ่มปล่อยออกนอกโรงเรือนและให้อาหารเสริมในการเลี้ยงได้ เนื่องจากไก่เริ่มแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมที่จะเรียนรู้จิกกินพืชผักผลไม้ ใบไม้ใบหญ้า แหล่งอาหารเสริมสำหรับไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์จะได้จากการปลูกพืชของเกษตรกรในท้องถิ่นนั้น ๆ อาทิ หนวดข้าวโพดฝักอ่อน ฝรั่ง ชมพู่ ผักบุ้ง แตงกวา หยวกกล้วย แหน และหญ้าขนสับ นำมามาผสมกับรำ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 – 4 เดือนเท่านั้น น้อยกว่าไก่ พื้นเมืองถึง 2 – 3 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ ประมาณ 2.2 ขายได้กิโลกรัม 80 - 100 บาท (ไก่เป็น) และไก่ชำแหละกิโลกรัม 120 - 150 บาท มีต้นทุนค่าอาหารเพียง 60 บาทเท่านั้น

ปัจจัยสำคัญสำหรับขบวนการผลิต  ที่เน้นความปลอดภัยมาสู่ผู้บริโภค คือ การเลี้ยงด้วยอาหารเสริมที่มีอยู่ในท้องถิ่นและยังใช้พืชผักสมุนไพรต่าง ๆ ในการเลี้ยงเพื่อเสริมสร้างให้ไก่มีร่างกายที่แข็งแรงทนทานต่อโรคต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติพื้นบ้าน (Natural Animal Husbandry) และยังโตเร็วไม่ต้องใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เร่งการเจริญเติบโต ไม่มีสารปนเปื้อน ทำให้ได้เนื้อ ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ที่ เนื้อแน่น นุ่ม และรสชาติหวานหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงสามารถเลี้ยงเป็นไก่อินทรีย์ปลอดสารพิษได้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค นำมาปรุง
อาหารได้หลากหลายประเภท อาทิ ไก่สับ ไก่ต้ม ไก่นึ่ง ไก่ตุ๋น ข้าว
หน้าไก่ โดยเฉพาะเมื่อนำมาทำข้าวมันไก่จะอร่อยมาก เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และราคาถูกกว่าไก่พื้นบ้านไทยอีกด้วย

สำหรับผู้สนใจพันธุ์ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” สามารถขอรับคำแนะนำ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายสุชาติ สงวนพันธุ์ และ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน / ศูนย์วิจัยและพัฒนา การผลิตสัตว์ปีก สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โทรศัพท์  0 – 3428 – 1078 – 9
บ้านอะลาง