ลูกพี้ช



พี้ช (peach) เป็นไม้ผลยืนต้นเขตหนาวชนิดผลัดใบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus persica (L.) Batsch พืชในสกุลนี้ที่เป็นไม้ผลเขตหนาวที่สำคัญประกอบด้วย อัลมอนด์ [almond; P. dulcis (Mill.) D.A. Webb] พลัม (plum; P. salicina Lindl.) พลัมยุโรปหรือพรุน (prune; P. domestica) แอปริคอท (apricot; P. armeniaca L.) บ๊วย (Japanese apricot; P. mume Siebold & Zucc.) และ เชอรี่หวาน [sweet cherry; P. avium (L.) L.] ไม้ผลในสกุลนี้อยู่ในวงศ์กุหลาบ (Rosaceae) ซึ่งมีไม้ผลเขตหนาวที่สำคัญอีกหลายชนิด เช่น แอปเปิ้ล (apple; Malus domestica Borkh.) สาลี่เอเซีย [Asian pear; Pyrus pyrifolia (Burm.) Nak.] สาลี่ยุโรป (European pear; P. communis) เป็นต้น

พี้ชจัดว่าเป็นราชินีของไม้ผลเขตหนาว รองจากแอปเปิ้ล เนื่องจากได้รับความนิยมในการบริโภคจึงมีการปลูกอย่างแพร่หลายในเขตอบอุ่น (temperate zone) ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ผู้ผลิตพี้ชที่สำคัญของโลกคือ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน และ รัสเซีย พี้ชมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ก่อนถูกนำแพร่พันธุ์ไปยังส่วนต่างๆ ของโลก โดยพี้ชถูกนำจากจีนไปสู่เปอร์เซียผ่านเส้นทางสายไหม จากนั้นชาวโรมันน่าจะเป็นผู้แพร่พันธุ์พี้ชไปยังแถบเมดิเตอร์เรเนียล ฝรั่งเศส จนถึงเกาะอังกฤษ ในยุคอาณานิคมสเปนได้นำพี้ชไปแพร่พันธุ์ในทวีปอเมริกาโดยเริ่มจากเม็กซิโกจนถึงฟลอริด้า ในขณะที่โปรตุเกสนำพี้ชไปแพร่พันธุ์ในทวีปอเมริกาตามชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาใต้ ปัจจุบันประเทศ

พี้ช ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของมูลนิธิโครงการหลวง จากการเสด็จประพาสต้นบนดอยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบว่า ชาวเขาสามารถขายท้อพื้นเมืองได้เงินพอๆ กับฝิ่น และสามารถทำพี้ชพันธุ์ต่างประเทศที่มีผลใหญ่มาขยายพันธุ์บนต้นท้อพื้นเมืองได้ผลสำเร็จ ซึ่งน่าจะขายได้เงินมากขึ้นเนื่องจากเป็นผลไม้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง จึงได้พระราชทานทรัพฯ ส่วนพระองค์ฯ ให้ทำการวิจัย เพื่อหาพืชทดแทนฝิ่น

เนื่องจากพี้ชเป็นไม้ผลเขตหนาว จึงต้องการอุณหภูมิต่ำในช่วงฤดูหนาว (chilling requirement) และต้องมีระยะเวลายาวนานเพียงพอต่อการพ้นการพักตัว ความต้องการอุณหภูมิต่ำนี้ยังขึ้นอยู่กับพันธุ์พี้ชด้วย ดังนั้นการเลือกพื้นที่ปลูกและเลือกพันธุ์พี้ชจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับพื้นที่สูงของประเทศไทยที่สามารถปลูกพี้ชได้ผลสำเร็จควรต้องมีอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวต่ำ โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย ไม่เกิน 12 oC เป็นระยะเวลา 50-60 วัน และพันธุ์พี้ชที่เลือกปลูกต้องเป็นพันธุ์ชนิด low chill cultivar ที่ต้องการ chilling requirement ไม่เกิน 200 ชั่วโมง

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา สำหรับประเทศไทย การปลูกพี้ช จะแนะนำให้ใช้ระยะปลูก 4 x 6 จนถึง 6 x 6 เมตร การจัดการทรงต้นแบบเปิดกลางทรงพุ่ม (Open center) เพื่อแผ่ทรงพุ่มออกให้กว้าง สามารถรับแสงแดดได้ดี ควรตัดแต่งไม่ให้กิ่งสูงมากเกินกว่าที่จะปฎิบัติงานได้สะดวกและดูแลรักษาได้ง่าย ถ้าสภาพแปลงเป็นพื้นที่ราดเอียงเกินร้อยละ 20 ควรมีการปรับพื้นที่ให้เป็นแบบขั้นบันได

เนื่องจากดินบนที่สูงมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและมีสภาพเป็นกรดจัด การเตรียมหลุมปลูกจึงไม่ควรน้อยกว่า 0.7 x 0.7 x 0.7 เมตร ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก 10-15 กิโลกรัม เศษพืชและปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์เพื่อปรับให้ความเป็นกรดหรือด่าง (pH) ของดินอยู่ระหว่าง 6.5–6.8 ถ้าแปลงปลูกไม่มีแหล่งน้ำชลประทาน ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมคือช่วง ต้นฤดูฝนเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน โดยปลูกต้นต่อก่อนแล้วทำการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีภายหลัง สำหรับพื้นที่มีน้ำชลประทานสามารถปลูกได้ด้วยต้นพันธุ์ดีเมื่อต้นพี้ชมีขนาดพร้อมปลูก และควรใช้วัสดุคุมดิน เช่น ใบหญ้าแฝก คลุมบนหลุมปลูก


การจัดทรงต้นและการตักแต่งกิ่ง การจัดทรงต้น (Training) และการตัดแต่งกิ่ง (Pruning) มีความสำคัญมากต่อการผลิตพี้ชเพื่อให้ได้ต้นพี้ชที่มีโครงสร้างของกิ่งแข็งแรง เจริญเติบโตเป็นอย่างดี ดูแลรักษาได้ง่าย และในที่สุดจะให้ผลผลิตที่ดีทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทรงต้นที่ดีส่งผลให้การปฎิบัติงานในแปลงทำได้สะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

การจัดทรงต้นพี้ชนิยมปฎิบัติคือ จัดทรงต้นแบบเปิดกลาง (Open center) โดนหลังจากเปลี่ยนด้วยยอดพันธุ์ดีแล้ว ให้เลี้ยงต้นพี้ชเพื่อมีลำต้นตั้งตรงเพียง 1 ลำต้นเท่านั้น เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ต้นพี้ช จะโตมีกิ่งข้างหลายกิ่งพร้อมที่จะจัดทรงต้นได้ ให้ทำการตัดแต่งกิ่งที่อยู่ต่ำกว่า 30 ซม. เหนือพื้นดินออก จากนั้นเลือกกิ่งที่เจริญมาจากลำต้น สำหรับสำหรับใช้เป็นกิ่งโครงสร้าง โดยเลือกกิ่งกระจายออกไปรอบทรงต้น เป็นกิ่งทำมุมกว้างกับลำต้น จำนวน 3-5 กิ่ง และคอยควบคุมกิ่งโครงสร้างให้มีการเจริญเติบโตที่สม่ำเสมอกัน ไม่ควรปล่อยให้กิ่งข้างนี้เจริญเติบโตเป็นกิ่งยาวและพุ่งตั้งขึ้น ดังนั้นควรปลิดยอดของกิ่งข้างเมื่อกิ่งมีความยาวประมาณ 40-50 ซม. และเมื่อกิ่งข้างมีการแตกกิ่งใหม่ ก็ให้ปฎิบัติเช่นกัน

โดยปกติแล้วต้นพี้ชที่พึ่งปลูกและยังไม่ให้ผลผลิต ต้นจะมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เข้าสู่การพักตัวในฤดูหนาว ยกเว้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นจัด เช่น อ่างขาง ดังนั้นการจัดทรงต้นและการตัดแต่งกิ่งจึงต้องปฎิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโครงสร้างต้นที่แข็งแรงและเหมาะสม แต่ในพื้นที่ที่ต้นพี้ชเข้าสู่การพักตัวในฤดูหนาว ให้จัดทรงต้นโดยควบคุมให้กิ่งโครงสร้างทั้งหมดแผ่กางออก ให้ได้ทรงต้นเปิดและกิ่งไม่สูง กิ่งโครงสร้างต้องควบคุมไม่ให้สูงเกิน 2 เมตร โดยใช้วิธีโน้มกิ่งและตัดแต่กิ่ง เมื่อต้นพี้ชเข้าสู่ฤดูหนาวเป็นครั้งที่สองจึงจะมีการพักตัวเกิดขึ้น การจัดทรงต้นและการตัดแต่งยังเน้นการทำให้ได้ทรงต้นแบบเปิดกลาง มีกิ่งโครงสร้างประมาณ 3-5 กิ่งที่แผ่ออกรอบต้น ความสูงต้นไม่เกิน 2 เมตร

พี้ชเป็นพืชที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว แต่ในขณะเดียวกันต้นมีการทรุดโทรมและไม่ให้ผลผลิกได้ง่ายมากถ้าขาดการตัดแต่งกิ่ง ดังนั้นการตัดแต่งกิ่งจึงเป็นหัวใจสำคัญของการที่จะทำให้ต้นพี้ชแข็งแรงสมบูรณ์ให้ผลผลิตได้ดีและสม่ำเสมอ การตัดแต่งกิ่งจะต้องทำปีละ 2-3 ครั้ง ตามช่วงระยะการเจริญเติบโตคือ การตัดแต่งในช่วงพักตัว 1 ครั้ง และการตัดแต่งกิ่งในฤดูเจริญเติบโต 1-2 ครั้ง

การให้ปุ๋ย แปลงปลูกพี้ชควรมีการเก็บตัวอย่างดินในช่วงการพักตัวของต้นพี้ช เพื่อตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารและวัดค่า pH เป็นประจำทุกปี เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการให้ปุ๋ยต่อไป เวลาที่เหมาะสมต่อการเก็บตัวอย่างดินคือก่อนที่ต้นพี้ชจะพ้นการพักตัว หรือประมาณ เดือน ตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ตัวอย่างดินควรสุ่มเก็บที่ระดับความลึก 2 ระดับคือ 5-10 ซม. และ 30-40 ซม. เนื่องจากเป็นระดับที่พบรากของต้นพี้ชเป็นจำนวนมาก

การให้ปุ๋ยแก่ต้นพี้ชต้องให้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้ดินมีธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการของพืชและปรับสภาพความสมดุลของดินให้พืชสามารถใช้ธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นกรดด่างของดินในแต่ละพื้นที่ โดยส่วนใหญ่พื้นที่แปลงปลูกพี้ชมีสภาพดินที่เป็นกรดจึงต้องมีการใส่ปูนขาว หรือ ปูนโดโลไมท์ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน การให้ปุ๋ยแก่ต้นพี้ชอย่างถูกต้องและเหมาะสมต้องคำนึงถึงช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตและขนาดของต้น การให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอและเหมาะสมจะช่วยให้ต้นพี้ชเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รสชาติดี ติดผลสม่ำเสมอทุกปี การใส่ปุ๋ยพี้ชแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ปุ๋ยที่ให้ในระยะที่ต้นพี้ชยังไม่ให้ผลผลิต และ ปุ๋ยที่ให้ในระยะที่ต้นพี้ชให้ผลผลิตแล้ว

ปริมาณปุ๋ยเคมีที่ให้แก่ต้นพี้ชต้องขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผลของต้นพี้ชด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ปริมาณปุ๋ยที่แนะนำข้างต้น เป็นปริมาณที่ให้กับต้นพี้ชที่มีผลผลิต เฉลี่ย 15-20 กก. ต่อต้น ถ้าต้นพี้ชมีการติดผลจำนวนน้อย ก็สามารถลดปริมาณปุ๋ยลงได้ หรือ ถ้าต้นพี้ชมีขนาดใหญ่และมีการติดผลจำนวนมาก ก็สามารถเพิ่มปริมาณของปุ๋ยได้เช่นกัน


การปลิดผลและการห่อผล โดยปกติพี้ชจะมีการออกดอกและติดผลมาก ถ้าปล่อยให้มีการติดผลจำนวนมากจะทำให้ผลมีขนาดเล็ก ไม่ได้คุณภาพ จึงต้องมีการปลิดผลทิ้ง
จำนวนมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือประมาณหลังจากติดผลประมาณ 15-30 วัน หรือหลังดอกบาน 2-3 สัปดาห์ ถ้าปลิดผลช้ากว่าที่กำหนด ผลที่เหลือบนต้นจะพัฒนาได้ช้าทำให้ผลคุณภาพต่ำ ปริมาณการไว้ผลให้พิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้น โดยให้มีใบประมาณ 30-40 ใบเพื่อเลี้ยงผล 1 ผล หรือปลิดให้มีหนึ่งผลต่อความยาวกิ่งประมาณ 25-30 เซนติเมตร หลังจากปลิดผลแล้วทำการห่อผลด้วยถุงห่อผลเพื่อป้องกัน แมลงวันผลไม้เข้าทำลาย

การเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยวของพี้ชจะเก็บเกี่ยวได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของพี้ชจะใช้วิธีการสังเกตการเปลี่ยนสีของผลเป็นหลัก โดยจะเก็บเมื่อผลเปลี่ยนสีพื้นจากสีเขียวเป็นสีเหลืองและมีสีแดงเกิดขึ้นทับประมาณร้อยละ 40-50 ของผล แต่ถ้าเป็นพันธุ์เพื่อการแปรรูป เช่น พันธุ์ ‘Jade’ ซึ่งไม่มีสีทับเกิดขึ้น จะเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อสีพื้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองกว่าร้อยละ 70 เนื่องจากผลพี้ชสามารถสูญเสียได้อย่างรวดเร็วภายหลังการเก็บเกี่ยว ดังนั้นเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วไม่ควรแกะกระดาษห่อผลออก แต่ให้รีบนำผลผลิตเข้าโรงคัดบรรจุอย่างรวดเร็ว

การจัดการศัตรูพืช การป้องกันเป็นวิธีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการกับศัตรูพืช สำหรับพี้ชควรเริ่มป้องกันตั้งแต่ในช่วงฤดูการพักตัวของต้นพี้ช โดยการใช้ปิโตรเลียมออยล์ผสมยากำจัดแมลง เป็นการทำความสะอาดต้น และเพื่อป้องกันเพลี้ยหอยและกำจัดสปอร์ของเชื้อราต่างๆ แมลงที่เป็นศัตรูสำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ แมลงวันทอง วิธีป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดคือการห่อผลด้วยถุงกระดาษที่ออกแบบสำหรับห่อผลไม้โดยตรง นอกจากนี้การใช้กับดักด้วยฟีโรโมน หรือเหยื่อพิษด้วยโปรตีนออโตไลเสทผสมยากำจัดแมลง ก็ช่วยควบคุมแมลงวันทองได้ผลดี สำหรับโรคของต้นพี้ชในแปลงที่สำคัญคือ โรคยางไหล ซึ่งอาจควบคุมและป้องกันด้วยสารประกอบทองแดง โรคราสนิมเมื่อระบาดอย่างรุนแรงจะทำให้ใบร่วงเร็วและผลพี้ชเป็นแผลได้ ควรฉีดป้องกันด้วยสารเคมีเป็นประจำ โดยปกติแล้วเมื่อเลี้ยงดูต้นพี้ชให้สมบูรณ์และแข็งแรงดี ต้นพี้ชจะมีปัญหาโรคเข้ารบกวนลดลง  บ้านอะลาง

พี้ช ของมูลนิธิโครงการหลวง
โดย : รศ.ดร. อุณารุจ บุญประกอบ