จะมีสักกี่คนบนโลกใบนี้ที่จะได้เดินทางไปบนห้วงอวกาศ แม้การไปอวกาศจะเป็นความฝันของคนค่อนโลก ซึ่งไกลจนไม่กล้าฝัน แต่ไม่ใช่ พิรดา เตชะวิจิตร์, นพฤทธิ์ แป้นทอง และ วิเชียร งามแสง เพราะทั้ง 3 ท่านนี้ กำลังไล่ล่าความฝัน เพื่อให้ประวัติศาสตร์จารึกในฐานะ “คนไทยคนแรก” ที่ได้ขึ้นไปบนอวกาศ
การเฟ้นหาคนไทยคนแรกที่จะทะยานขึ้นสู่อวกาศครั้งนี้ เป็นแคมเปญ “แอ๊กซ์ อพอลโล่” โดยบริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด โดยล่าสุดได้ร่วมกับกองทัพอากาศ พาทั้ง 3 ตัวแทนคนไทยไปทดสอบความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ณ สถาบันเวชศาสตร์การบิน และโรงเรียนการบิน กำแพงแสน จ.นครปฐม ก่อนที่ทั้ง 3 ท่านจะเดินทางไปยัง “แอ๊กซ์ โกลบอล สเปซ แคมป์” ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพื่อขับเคี่ยวกับตัวแทนจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ก่อนคว้าโอกาสสำคัญในการได้ก้าวขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
''วิเชียร งามแสง'' อีกหนึ่งคนที่ขอไปแตะขอบจักรวาลด้วยสักครั้ง วิเชียร อายุ 35 ปี เป็นลูกจ้างของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นผู้ชนะจากการส่งรหัสผลิตภัณฑ์สินค้าแอ๊กซ์ อพอลโล่ เข้ามาร่วมลุ้นและกลายเป็น 1 ใน 3 ผู้โชคดีที่จะได้เดินทางไปยังสเปซแคมป์
“ผมไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้เดินทางไปเข้าแคมป์เตรียมความพร้อมเพื่อจะไปอวกาศ ยอมรับว่าตื่นเต้นมากเพราะไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน สำหรับตอนนี้ผมเตรียมฟิตซ้อมร่างกายมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้พร้อมสำหรับการเข้าแคมป์และการไปตะลุยอวกาศครับ”
มิ้งคิดว่าอวกาศเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่และท้าทายมาก และสำหรับวิศวกรเช่นเธอ การได้ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ที่มีเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่อยากทำอยู่แล้ว ยิ่งเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับอวกาศที่ไฮเทคมากๆ ยิ่งน่าสนใจและน่าค้นหา และก็มีเพียงที่ GISTDA เท่านั้นที่มีงานด้านนี้โดยตรงให้เธอได้ทำ ปัจจุบันมิ้งทำงานเป็นวิศวกรดาวเทียม คอยติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมไทยโชต หรือดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย โดยดูทั้งภาคพื้นดินและบนดาวเทียม
“นักบินอวกาศในดวงใจของมิ้ง คือ โซยอน (Yi So-Yeon) นักบินอวกาศหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ และแฟรงคลิน ชาง ดีแอซ (Franklin Chang Diaz) ชาวคอสตาริกา เขาเป็นเจ้าของสถิติการบินขึ้นอวกาศสูงที่สุดถึง 7 ครั้งด้วยกัน สำหรับมิ้งอาจจะมีโอกาสดีกว่าคนอื่น ๆ ในเรื่องของภาษาและความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเดินทางไปในอวกาศ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ มิ้งก็ต้องทำให้เต็มที่ที่สุด”
นพฤทธิ์ แป้นทอง แม้จะเป็นเจ้าของเขียงหมูและเกษตรกรจากนครปฐม แต่ก็ฝันอยากจะไปอวกาศมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากชอบแหงนคอดูดาว และสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับอวกาศมาโดยตลอด แม้คนรอบข้างบอกว่ามันเกินความจริง แต่ นพฤทธิ์มองว่านี่คือโอกาสที่จะได้ทำตามความฝัน จึงทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
นพฤทธิ์เริ่มทำชุดอวกาศเองหลังสมัครเข้าร่วมโครงการ ใช้เวลา 1 เดือนเต็มกว่าจะทำจนเสร็จ โดยการหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ต เพื่อดูรายละเอียดของชุดอวกาศของนีล อาร์มสตรอง และทำคลิปวิดีโอ โดยการใส่ชุดอวกาศไปปรากฏกายตามสถานที่สำคัญ ๆ ของจังหวัดนครปฐม ใส่ชุดมนุษย์อวกาศไปร่วมงานที่ใหญ่ขึ้นเช่นงานมอเตอร์โชว์ งานฟุตบอลของทีมลิเวอร์พูล ใส่ชุดอวกาศออกปฏิบัติภารกิจแบบฮีโร่ ทั้งช่วยเหลือดูแลทั้งคนหนุ่มสาวและคนเฒ่าคนแก่ข้ามถนนอย่างปลอดภัย ไปเลี้ยงอาหารและทำกิจกรรมสนุก ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียน ก่อนจะอัพโหลดคลิปขึ้นยูทูบ หนุ่มคนนี้ยังทำใบปลิว เชิญชวนให้คนมาร่วมโหวตให้เขา และใบปลิวนั้นมีบาร์โค้ดให้สแกนแล้วเข้าไปถึงหน้าคลิปในยูทูบ เพื่อให้ทุกคนได้โหวตให้เขาได้ง่ายที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่คลิปของนพฤทธิ์จะมียอดผู้เข้าชมสูงกว่า 254,000 คน และกลายเป็นผู้ชนะด้วยคะแนนกดไลค์สูงสุด
นพฤทธิ์บอกว่า เขามีเป้าหมายที่ชัดเจนที่อยากจะไปอวกาศ เขาจึงทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อก้าวสู่จุดมุ่งหมายนั้น โดยต้องเดินไปให้ถึงอย่างเต็มที่ที่สุด ทำให้ดีที่สุดก่อน จากนั้นจะได้ไปหรือไม่ได้ไปก็ค่อยว่ากันไปตามกติกาและผลการตัดสินของคณะกรรมการ
แม้ครอบครัวจะไม่เห็นด้วยที่จะให้เขาไปสเปซแคมป์ที่อเมริกา แต่เขายืนยันที่จะมีความสุขกับการทำตามฝัน เขาจึงเตรียมตัวทั้งฟิตซ้อมร่างกาย ภาษา และค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับอวกาศ “ผมต้องเตรียมตัวให้พร้อม และทำทุกอย่างอย่างเต็มที่และดีที่สุดเต็มความสามารถ จากนั้นจะได้ไปหรือไม่ได้ไป ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกติกาและผลการตัดสินของคณะกรรมการ”
ในสเปซแคมป์ ทั้ง 3 ท่านจะต้องร่วมทำ 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ ภารกิจ “G-Centrifuge” หรือการทดลองนั่งในห้องนักบิน ในสภาวะการขับขี่ยานขึ้นสู่อวกาศจริงแบบซิมูเลเตอร์ เพื่อทดสอบสภาวะร่างกาย และลองเปิดรับประสบการณ์จริง ภายใต้แรงดันสูงสุดถึง 4.5G, ภารกิจ “Jet Fighter Flight” การทดลองบินจริงบนเครื่องบินความเร็วมากกว่าความเร็วเสียง พร้อมทั้งลองบินกลับหัวกลางอากาศ และภารกิจ “Zero G Flight” ไฟลต์บินเป็นเส้นโค้งพารา โบลาที่จะพาทุกคนขึ้นไปลองสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักของห้วงอวกาศ รวมไปถึงกิจกรรมย่อย เช่น เข้าคอร์สนักบินอวกาศสำหรับตัวแทนจากแต่ละประเทศ การฟังบรรยายเรื่องอวกาศและการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับนักบินอวกาศตัวจริง หรือการทดสอบความถนัดทางจิตใจ ฯลฯ
ความกล้าหาญ (Bravery) ความกระตือรือร้น (Enthusiasm) และการทำงานเป็นทีม (Teamwork) จะเป็นหลักเกณฑ์ให้คณะกรรมการ 3 ท่าน ประกอบด้วย “บัซ อัลดริน” นักบินอวกาศตัวจริงผู้ลงเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่ 2 ต่อจากนีล อาร์มสตรอง, วิศวกรฝ่ายเทคนิคด้านยานอวกาศ และตัวแทนจากบริษัท สเปซ เอ็กซ์เพอดิชั่น คอร์เปอเรชั่น บริษัทผู้จัดจำหน่ายไฟลต์ที่นั่งขึ้นสู่อวกาศ เพื่อเปิดประสบการณ์การเดินทางท่องอวกาศมาแล้วถึง 175 ไฟลต์ ซึ่งตัดสินว่าจะให้ที่นั่งบนยานอวกาศกับใคร จากทั้งหมด 22 ที่นั่ง สำหรับ 22 มวลมนุษยชาติ ที่จะได้มีส่วนร่วมเปิดประสบการณ์สำคัญ กับการก้าวขึ้นยานออกไปท่องอวกาศบนความสูงจากพื้นดินกว่า 100 กิโลเมตร
ทั้ง 3 ท่าน ทุ่มเทกับภารกิจครั้งนี้มาก เพราะนี่เป็นโอกาสครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต และอยากให้คนไทยช่วยส่งใจเชียร์ เพื่อร่วมเขียนประวัติศาสตร์ด้วยกัน!!.
เรียบเรียง : นภาพร พานิชชาติ napapornp@dailynews.co.th
เว็บไซต์เกษตรบ้านอะลาง ขอแสดงความยินดีกับทั้ง 3 ผู้กล้า
1.นายวิเชียร งามแสง
2.นายนพฤทธิ์ แป้นทอง
3.นางสาวพิรดา เตชะวิจิตร์