ลิ้นจี่




ลิ้นจี่  ลักษณะทางธรรมชาติ
    เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดปานกลางถึงใหญ่อายุยืนนับร้อยปี มีทั้งสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในเขตภาคเหนือ (อากาศเย็น)ชอบดินร่วนปนราย และภาคอื่น (อากาศภาคกลาง)ชอบดินดำร่วนทนแล้งแต่ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังค้าง เจริญเติบโตช้าแต่สม่ำเสมอ มีระบบรากลึกและจำนวนมาก มีใบและกิ่งแขนงจำนวนมากจนทรงพุ่มทึบ เป็นไม้ไม่ผลัดใบ              

    เป็นไม้ผลอ่อนไหวต่อปริมาณสารอาหารที่สะสมในต้นเป็นอย่างมาก ถ้าปีใดหรือปีผ่านมาต้นไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริงจะไม่ออกดอกติดผลในปีปัจจุบัน บางครั้งออกดอกติดผลเว้นปีหรือเว้น 2-3 ปี ถ้าต้องการให้ลิ้นจี่ออกดอกติดผลทุกปี จะต้องพิถีพิถันในการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการบำรุงแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่งติดต่อกันตั้งเริ่มยืนต้นได้ (ระยะกล้า) จนถึงระยะให้ผลผลิตแล้ว              

     ในช่อดอกเดียวกัน ดอกตัวผู้. ดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวผู้. และดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมีย. แยกกันคนละดอกโดยดอกตัวผู้อยู่โคนก้านเกิดก่อนและบานก่อน  ตามด้วยดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียอยู่กลางช่อเกิดแล้วบานลำดับต่อมา ส่วนดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวผู้อยู่ปลายช่อนั้นเกิดแล้วบานเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งดอกที่จะพัฒนาเป็นผลได้คือ ดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมีย              
      การที่ดอกบานและพร้อมผสมไม่พร้อมกันเช่นนี้ เป็นเหตุให้ลิ้นจี่ติดผลค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณดอกที่ออกมา แนวทางแก้ไข คือ นอกจากต้องบำรุงดอกด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ.แล้วยังต้องอาศัยแมลงเข้ามาช่วยผสมเกสรและสายลมช่วยถ่ายละอองเกสรอีกด้วย

      ดอกทุกประเภทมีอายุพร้อมรับการผสมเพียง 3-4 วันเท่านั้น จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลิ้นจี่ติดผลได้น้อย นอกจากนั้นยังต้องพิจาณาความสมบูรณ์ของต้น สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมอื่นๆอีกด้วย
ออกดอกติดผลปีละ 1 รุ่น ปัจจุบันยังไม่มีสารหรือฮอร์โมนใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูได้และยังไม่พบสายพันธุ์ทะวาย  ผลที่เกิดจากการผสมด้วยเกสรที่ไม่สมบูรณ์จะเป็นผลไม่สมบูรณ์ด้วย เรียกว่า  กระเทย เป็นผลขนาดเล็ก ไม่มีเมล็ดหรือเมล็ดเล็กมาก เนื้อแน่น แต่รสชาติและกลิ่นไม่ดีต้นที่สมบูรณ์มากๆมักมีดอกกระเทยและดอกตัวเมียมาก ซึ่งจะส่งผลให้ได้จำนวนผลมากขึ้นส่วนต้นที่ไม่สมบูรณ์มักมีดอกตัวผู้มากจึงทำให้ได้จำนวนผลน้อยตามไปด้วย
             
    ระยะผลกลางถึงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว ถ้าขาดธาตุรอง/ธาตุเสริม หรือได้รับธาตุอาหารไม่สมดุลเปลือกของผลจะมีสีไม่จัด บางส่วนสีซีด รสและกลิ่นไม่ดี เป็นผลที่ไม่มีคุณภาพ  ปกติออกดอกตามซอกใบปลายกิ่ง แต่ต้นสมบูรณ์เต็มที่สามารถออกดอกแล้วติดเป็นผลขนาดใหญ่ที่ใต้ท้องกิ่งแก่หรือแม้แต่ที่ลำต้นได้  การบำรุงลิ้นจี่ให้มีความสมบูรณ์อย่างแท้จริง ต้นจะต้องผ่านการแตกใบอ่อนปีละ 4 ชุด คือ ช่วงหน้าฝน 2 ชุด หน้าแล้ง 1 ชุด และช่วงปลายฝนต่อหนาวอีก 1 ชุด เพื่อให้ได้ใบอ่อนแต่ละชุดจำนวนมากๆ และออกพร้อมกันทั้งต้นจำเป็นต้องบำรุงด้วยสูตรเรียกใบอ่อนสม่ำเสมอ กรณีต้องการให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อนในหน้าแล้งได้ก็จะต้องมีน้ำให้อย่างเพียงพอ
             
    ลิ้นจี่เขตภาคกลางออกดอกช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. พร้อมกันทุกสายพันธุ์ ส่วนลิ้นจี่ภาคเหนือออกดอกตั้งแต่ ธ.ค.-เม.ย. โดยพันธุ์เบาออกดอกก่อน ส่วนพันธุ์หนักออกทีหลังลิ้นจี่ ทั้งภาคกลางและภาคเหนือมีอายุตั้งแต่ออกดอกถึงเก็บเกี่ยว 4 เดือนเหมือนกัน ข้อเปรียบเทียบที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ลิ้นจี่ภาคเหนือออกดอกติดผลทุกปี ส่วนจะออกมากหรือออกน้อยอยู่ที่การบำรุงและความสมบูรณ์ของต้น แต่ลิ้นจี่ภาคกลางออกดอกติดผลปีเว้นปี บางทีเว้นสอง-สามปีก็ยังเคย ทั้งๆที่บำรุงอย่างดี สภาพต้นสมบูรณ์เห็นชัด

             
      คำตอบ คือ สวนลิ้นจี่ภาคเหนือเป็นสวนยกร่องแห้งหรือพื้นราบบนที่ลาดเอียง ทำให้ควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้นได้ โดยเฉพาะการปรับ ซี/เอ็น เรโช.ก่อนการเปิดตาออกดอก แต่สวนลิ้นจี่ภาคกลางเป็นสวนยกร่องน้ำหล่อ มีน้ำในร่องตลอดเวลา แม้จะไม่มีน้ำในร่องแต่ดินเป็นดินเหนียวยังอุ้มน้ำไว้จำนวนมากได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณใต้ดินโคนต้นได้ ธรรมชาติลิ้นจี่ก่อนออกดอกจำเป็นต้องมีอัตราส่วนระหว่าง ซี.(คาร์บอน)กับเอ็น.(ไนโตรเจน)ห่างกันมากๆ มากกว่าไม้ผลทั่วๆไป การมีน้ำในร่องจึงทำให้ต้นได้รับ เอ็น.ตลอดเวลา แม้ว่าจะได้ให้สารอาหารกลุ่ม ซี. ทั้งทางรากและทางใบอย่างต่อเนื่องแล้วก็ไม่สามารถทำให้ปริมาณ ซี.มากกว่าปริมาณ เอ็น.ได้......อัตราส่วนระหว่าง ซี.กับ เอ็น. ต่อการออกดอกของไม้ผล คือ
           
      ถ้า ซี.เท่ากับ เอ็น.เปิดตาดอกแล้ว ออกทั้งใบและดอก หรือออกใบอย่างเดียว
      ถ้า ซี.มากกว่า เอ็น.เปิดตาดอกแล้ว ออกดอก  ไม่ออกใบ    
      ถ้า ซี.น้อยกว่า เอ็น.เปิดตาดอกแล้ว ออกใบ  ไม่ออกดอก
                 
  ต้นที่ได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้ไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนปรับ ซี/เอ็น เรโช.แล้วเปิดตาดอกจะมีโอกาสออกดอกติดผลแน่นอนกว่าต้นที่ได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกช่วงสั้นๆ และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลิ้นจี่เว้นปีไม่ออกดอกติดผล
             
  ระยะพัฒนาการของลิ้นจี่ใน 1 รอบปีให้ผลผลิต  ดังนี้
                   
      แตกใบอ่อนครั้งที่ 1   ใช้เวลา  60 วัน (มิ.ย.-ส.ค.)
      แตกใบอ่อนครั้งที่ 2   ใช้เวลา  60 วัน (ก.ย.-ต.ค.)
      แตกใบอ่อนครั้งที่ 3   ใช้เวลา  60 วัน (พ.ย.-ธ.ค.)
      แทงช่อดอก        ใช้เวลา  60 วัน (ธ.ค.-ก.พ.)
      ผลอ่อน-เก็บเกี่ยว    ใช้เวลา  90  วัน              

     การห่อผลลิ้นจี่ควรห่อด้วยถุงพลาสติกใสเพื่อให้แสงส่องถึงผลจะทำให้ผิวสวยสดใสดีกว่าการห่อด้วยถุงกระดาษทึบแสง และเริ่มห่อเมื่อสีเปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงเรื่อๆ  การแก่ของผลในต้นเดียวกันมักไม่พร้อมกัน ต้องทยอยเก็บ 20-25 วันจึงจะหมดทั้งต้น
               
     ลิ้นจี่เป็นพืชที่มีการออกดอกติดผลที่ปลายยอดที่เจริญเติบโตเต็มที่ ตายอดต้องผ่านการ พักตัวระยะหนึ่งจึงจะมีการพัฒนาเป็นตาดอกเมื่อกระทบอากาศเย็นในฤดูหนาว  (ประมาณ 15 องศาเซลเซียสนานติดต่อกันประมาณ 2 สัปดาห์)ผลการวิจัย เรื่อง ธาตุอาหารพืชในลิ้นจี่ พบว่า ธาตุอาหารส่วนใหญ่จะอยู่ที่ใบลิ้นจี่มากกว่าส่วนอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่า กิ่งที่ปลายยอดและใบจะเป็นแหล่งสะสมอาหารสำหรับการเจริญของช่อดอกและผลลิ้นจี่ ทั้งนี้ ปริมาณธาตุอาหารพืชที่ลิ้นจี่ใช้เพื่อการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านสาขา (สร้างช่อใบใหม่) และปริมาณธาตุอาหารพืชที่ลิ้นจี่ใช้เพื่อการสร้างผล เป็นดังนี้

      - ปริมาณธาตุอาหารที่ลิ้นจี่ต้องการใช้ในการเจริญเติบโตของใบ 1 ชุด(1 ช่อใบ)ไนโตรเจน 151.2 มิลลิกรัม  ฟอสฟอรัส 15.2 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 98.9 มิลลิกรัม เมื่อพิจารณาในรูปสัดส่วนของปุ๋ย N : P2O5 : K2O จะมีค่าประมาณ
4:1:3
      - ปริมาณธาตุอาหารที่ลิ้นจี่ต้องการใช้ในการเจริญเติบโตของผล 1 ใบ น้ำหนัก 1 กิโลกรัมไนโตรเจน 2.37 มิลลิกรัม  ฟอสฟอรัส 0.32 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 2.53 มิลลิกรัม
      เมื่อพิจารณาในรูปสัดส่วนของปุ๋ย N:P2O5:K2O จะมีค่าประมาณ 3:1:4

สายพันธุ์              
      ลิ้นจี่ภาคเหนือ :  โฮงฮวย. โอเฮียะ. กิมเจง. สีรามัญ. ลูกลาย. ฮ่องกง.  เขียวหวาน.  กิ้มจี่.
      จักรพรรดิ.  บริงสเตอร์.
      ลิ้นจี่ภาคกลาง :  ค่อม (หอมลำเจียก). กะโหลก. สาแหรกทอง. กระโถนท้อพระโรง. เขียวหวาน. ไทยธรรมดา. ไทยใหญ่.  กะโหลกใบแก้ว.  กะโหลกใบเตา.  ช่อระกำ. สำเภาแก้ว. แห้ว.

         
การขยายพันธุ์              
      ลิ้นจี่เป็นไม้ผลที่มีการปลูกกันมากในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่  อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากได้แก่ ฮงฮวย.  กิมเจง. โอวเฮี้ยะ. และจักรพรรดิ์ การขยายพันธุ์ลิ้นจี่สามารถทำได้หลายวิธี เช่น  การเพาะเมล็ด  การปักชำ การตอนกิ่ง การทางกิ่ง และการเสียบกิ่ง  แต่วิธีขยายพันธุ์ที่ชาวสวนนิยมกันมากที่สุด คือการตอนกิ่งแบบตอนอากาศ (Air Layering) เพราะว่า เป็นวิธีการที่ง่ายประกอบกับลิ้นจี่เป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรบางรายขยายพันธุ์ลิ้นจี่โดยวิธีการเสียบกิ่ง เช่น ที่สวนวังน้ำค้าง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

1.การเพาะเมล็ด
       การเพาะเมล็ดลิ้นจี่โดยทั่วไปไม่ค่อยนิยมทำเนื่องจากมักจะมีการกลายพันธุ์ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดเมื่อนำไปปลูกใช้ระยะเวลานาน 10 ปี หรือมากกว่านี้ บางครั้งอาจพบถึง 25 ปี จึงจะออกดอก นอกจากนั้นต้นกล้าที่ได้มีการเจริญเติบโตช้าและบางพันธุ์ เมล็ดมักลีบ(chicken tongues)เช่น พันธุ์กวางเจา แต่ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยเมล็ดคือ ได้พันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้น เช่น พันธุ์ Peerless กลายมาจากพันธุ์ Brewster และพันธุ์ Bengal กลายพันธุ์มาจากพันธุ์  Purbi เป็นต้น
       นอกจากนี้การเพาะเมล็ดยังมีจุดประสงค์เพื่อที่จะใช้เป็นต้นตอสำหรับการเสียบกิ่งและทางกิ่ง                  


วิธีการเพาะเมล็ด              
       เนื่องจากลิ้นจี่จะสูญเสียความงอกเร็ว หากปล่อยให้เมล็ดแห้งจะเพาะไม่ขึ้น Ray and Sharma(1987) ความชื้นในเมล็ดหากสูญเสียมากกว่า 20% เมล็ดจะสูญเสียความงอก ดังนั้นเมื่อแกะผลเสร็จควรนำไปเพาะทันที หากเก็บไว้เกิน 4–14  วัน เมล็ดจะไม่งอก แต่ในกรณีที่ต้องการจะเก็บเมล็ดไว้ให้นานควรเก็บไว้ทั้งผล เก็บในตู้เย็นไว้ช่องผักจะสามารถเก็บได้นานถึง 4 สัปดาห์


ขั้นตอนการเพาะ
    1.เมื่อนำเมล็ดออกจากผลให้ล้างเอาเนื้อออกให้หมด นำเมล็ดแช่ไว้ในน้ำนาน 24 ชั่วโมง จะทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกเพิ่มขึ้น

    2.วัสดุที่ใช้เพาะเมล็ดในกรณีที่เพาะในกระบะควรใช้ขี้เถ้าแกลบผสมทราย อัตราส่วน 1:1ส่วนการเพาะลงในถุงพลาสติก วัสดุเพาะควรใช้ดินร่วน ผสมขี้เถ้าแกลบ ผสมปุ๋ยคอกอัตราส่วน 2:1:1

    3.การเพาะให้กดเมล็ดลงในวัสดุเพาะพอมิด รดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 2–3 สัปดาห์เมล็ดลิ้นจี่จะเริ่มงอก
      2.การตัดชำ


การตัดชำกิ่ง
    1. กิ่งที่จะนำมาปักชำควรเป็นกิ่งแก่(Hard wood)และกิ่งกึ่งแก่(Semi hard wood)
    2. ขนาดของกิ่งความยาว 15–20 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8–15 มิลลิเมตร ก่อนนำมาปักชำควรทำการควั่นกิ่งทิ้งไว้ประมาณ 1–2 เดือน เพื่อให้กิ่งเกิดการสะสมอาหารทำให้การเกิดรากดีขึ้น
    3. จุ่มกิ่งในสาร IBA ความเข้มข้น 5,000–10,000 ส่วนต่อล้าน หรือแช่กิ่งในสาร IBA  ความเข้มข้น 100–200 ส่วนต่อล้าน นาน 24 ชั่วโมง
    4. วัสดุที่ใช้ในการปักชำ คือ ทรายผสมขี้เถ้าแกลบอัตราส่วน 1:1
    5 อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเกิดรากของลิ้นจี่ คือ อุณหภูมิของอากาศ 20–25  องศา ซ. อุณหภูมิวัสดุปักชำ 30–32 องศา ซ. ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อนก่อนที่กิ่งลิ้นจี่จะเกิดราก
    6. ประมาณ 2–4 เดือน กิ่งปักชำจะเริ่มเกิดราก


3.การตอนกิ่ง 
           การตอนกิ่งลิ้นจี่ปกติจะได้ผลถึง 95–100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปกติจะทำการตอนกิ่งในฤดูฝน มีเทคนิค
ในการตอนกิ่ง ดังนี้

      1. เลือกกิ่งที่ตั้งตรง ความยาว 75–100 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1–2เซนติเมตร
          ควรเลือกกิ่งที่ได้รับแสงเต็มที่จะออกรากได้ดีกว่าที่ได้รับแสงน้อย
      2. ควั่นกิ่งโดยใช้มีดควั่นเป็น 2 รอย จากนั้นใช้คีมปากจิ้งจกบิด เพื่อให้เปลือกลอกออก
          ซึ่งจะเป็นวิธีการตอนกิ่งที่ทำได้รวดเร็วและได้ผลดี
      3. หุ้มรอยควั่นด้วยขุยมะพร้าวซึ่งบรรจุอยู่ในถุงขนาด 4x6 มัดด้วยเชือกฟางให้แน่น
      4. หากต้องการเร่งการเกิดรากให้เร็วขึ้น อาจใช้สารเร่งรากเซราดิกซ์เบอร์ 2 หรือ 3
          ทาบริเวณรอยควั่นด้านบน
      5. ประมาณ 30–45 วัน กิ่งตอนจะเริ่มเกิดราก


เทคนิคการชำกิ่งตอน
      1. ต้องดูราก บริเวณกระเปาะขุยมะพร้าวว่ามีปริมาณมากพอ และรากควรเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
      2. เมื่อตัดกิ่งตอนเพื่อนำลงถุงควรริดใบออกประมาณครึ่งหนึ่งเพื่อลดการคายน้ำ
      3. การแกะพลาสติกที่หุ้มขุยมะพร้าวออกควรทำด้วยความระมัดระวัง
      4. ในกรณีที่กิ่งตอนไม่ตรงควรใช้ไม้ดัดให้ตรง
      5. ชำกิ่งตอนลงถุง ใช้วัสดุชำคือ ดินร่วนผสมขี้เถ้าแกลบ ผสมปุ๋ยคอกอัตราส่วน 2:1:1
          ขนาดของถุงควรใช้ถุงพลาสติกสีขนาด 8x10 นิ้ว
      6. นำกิ่งชำวางไว้ในที่ร่มแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ รดน้ำให้ชุ่ม
      7. ประมาณ 3–12 เดือนหลังจกชำก็สามารถนำกิ่งพันธุ์ไปปลูกในแปลง


4.การเสียบกิ่ง
          จุดมุ่งหมายในการเสียบกิ่งเพื่อต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากต้นตอในด้านการควบคุมขนาดของทรงต้นและนิสัยการเจริญเติบโต  ผลผลิตคุณภาพของผลรวมถึงความต้านทานต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

วิธีเสียบกิ่ง              
          ใช้วิธีการเสียบกิ่งแบบเสียบลิ่มหรือฝานบวบ โดยเลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีให้มีขนาดใกล้เคียงกันคือ มีขนาด 3–10 มิลลิเมตร ความยาวของกิ่งพันธุ์ดียาว 10–15 เซนติเมตร

ระยะปลูก              
    - ระยะปกติ  8 X 8 ม. หรือ 10 X 10 ม.              
    - ระยะชิด   4 X 6 ม. หรือ  6 X 6 ม.
                               
      เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ                
    - ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา...แห้งเก่าข้ามปี)ปีละ 2 ครั้ง
    - ให้ยิบซั่มธรรมชาติ  ปีละ 2 ครั้ง              
    - ให้กระดูกป่น  ปีละ 1 ครั้ง                
    - คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม  ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
             
หมายเหตุ :              
    - การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน                
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน  ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้                
    - ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง              

เตรียมต้น  
      ตัดแต่งกิ่ง :  ลิ้นจี่อายุต้น 5 ปีขึ้นไปควรตัดแต่งกิ่ง 2 ครั้งๆ แรกตัดแต่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จตัดแต่งครั้งที่ 2 หลังสิ้นฤดูฝน การตัดแต่งครั้งแรกควรตัดออก 20-25% ของจำนวนรอบทรงพุ่ม ส่วนกิ่งในทรงพุ่มหรือกิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อการออกดอก ได้แก่ กิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค กิ่งมุมแคบ และ  กิ่งแห้งตาย ให้ตัดออกทั้งหมด  หลังจากตัดแต่งกิ่งครั้งแรกแล้ว ระหว่างรอจนกว่าจะถึงปลายฤดูฝนจะมีกิ่งแตกใหม่ออกมาอีกเป็นระยะๆทั่วทรงพุ่ม  ให้เก็บกิ่งด้านนอกทรงพุ่มไว้ก่อนเพื่อใช้เป็นใบสังเคราะห์อาหาร ส่วนกิ่งในทรงพุ่มให้หมั่นตัดออกตั้งแต่ยังเป็นยอดอ่อนเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง  ไม่เป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง
           
      การตัดแต่งกิ่งครั้งที่ 2 ให้พิจารณาตัดแต่งกิ่งบริเวณชายพุ่มออกบางส่วนประมาณ 10% ของจำนวนกิ่งทั่วทรงพุ่ม ลิ้นจี่จะออกดอกจากกิ่งย่อยและกิ่งแขนงซึ่งเกิดจากกิ่งประธานที่ทำมุมมากกว่า 45 องศากับลำต้นเสมอ การตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย ลักษณะทรงพุ่มที่ดีควรมีใบด้านนอกทึบแต่ภายในรงพุ่มต้องโปร่ง  
         
      ตัดแต่งราก : ลิ้นจี่ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิ
ภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
    - ต้นอายุหลายปี  ระบบรากเก่าและแก่มาก  ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อลิ้นจี่      
    1.เรียกใบอ่อน              
      ทางใบ :              
    - ให้น้ำ 100 ล.+ 25-5-5(200 กรัม) หรือ 46-0-0 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + จิ๊บเบอเรลลิน
      10 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1 ครั้งต่อการเรียกใบอ่อน 1 ชุด   ฉีดพ่นพอเปียกใบ              
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
      ทางราก :              
    - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7(½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
    - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน
           
หมายเหตุ :              
    - ลงมือปฏิบัติทันทีหลังตัดแต่งกิ่งและตัดแต่งรากเสร็จ  เป็นการเรียกใบอ่อนชุดแรกของปีการผลิต  วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสภาพต้นเรียกความสมบูรณ์กลับคืนมา

    - หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50% ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม เพราะถ้าต้นแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นจะส่งผลเสียหลายอย่างตั้งแต่การเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ การสะสมอาหารเพื่อการออก การปรับ ซี/เอ็น เรโช. การเปิดตาดอก ซึ่งจะออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น และเมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลไม่พร้อมกันทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมากแนวทางแก้ไข คือ ต้องบำรุงเรียกใบอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้

 2.เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่                
      ทางใบ : ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74(200 กรัม)หรือ 0-39-39(200 กรัม)สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุ
      เสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน  ฉีดพ่นพอเปียกใบ              
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
      ทางราก :              
    - ให้น้ำตามปกติ  ทุก 2-3 วัน
             
 หมายเหตุ :              
    - ลงมือปฏิบัติเมื่อใบเริ่มแผ่กางรับแสงแดดได้              
    - วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สามารถสังเคราะห์อาหารได้ และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปได้เร็วขึ้น  กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงปากกัดปากดูด
    - ต้นที่สะสมความสมบูรณ์เต็มที่มานานหลายปีติดต่อกัน หลังจากใบอ่อนเริ่มแผ่กางแล้วอาจจะข้ามขั้นตอนการบำรุงไปสู่ขั้นตอนเปิดตาดอกได้เลย ทั้งนี้ฟอสฟอรัส.กับโปแตสเซียม.นอกจากช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ได้แล้วยังช่วยเปิดตาดอกได้อีกด้วย
    - สารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่มีฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม.นอกจากช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่แล้วยังช่วยเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกได้ด้วย      


3.สะสมอาหารเพื่อการออกดอก                  
      ทางใบ :  ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 รอบแล้วให้น้ำ 100 ล.+ เอ็นเอเอ. 25 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.สลับ 1 รอบ ฉีดพ่นพอเปียกใบ ติดต่อกัน 1-2 เดือน จะช่วยให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่
    - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
      ทางราก :              
    - ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 หรือ 9-26-26 (1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
    - ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน
             
หมายเหตุ :              
    - เริ่มปฏิบัติหลังจากใบอ่อนชุดสุดท้ายเพสลาด              
    - แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2 เดือน โดยให้กลูโคสหรือนมสัตว์สดรอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุงและให้รอบสองห่างจากรอบแรก 20-30 วัน              
    - ไม้ผลที่ผ่านการบำรุงมาอย่างดีแล้วต้องกระทบหนาวจึงออกดอกดีนั้น ช่วงขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ถ้ามีการให้ “นมสัตว์สดหรือกลูโคส + 0-52-34 หรือ 0-42-56 + สังกะสี” ฉีดพ่นพอเปียกใบ ช่วงเช้าแดดจัด 1-2 รอบ ให้รอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอก จากนั้น อีก 20 วัน ให้อีกเป็นรอบ 2 ก็จะช่วยให้ต้นเกิดอาการอั้นตาดอกและส่งผลให้เปิดตาดอกแล้วมีดอกออกมาดีอีกด้วย
                 
    - วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นได้สะสมสารอาหารทั้งกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.) และกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้นไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งเกิดอาการอั้นตาดอก  ไม่มีการแตกใบอ่อนออกมาอีก ถ้าต้นแตกใบอ่อนออกมาใหม่ก็จะต้องย้อนกลับไปบำรุงที่ขั้นตอนเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่อีกครั้งซึ่งทำให้เสียเวลา
            
    - ปริมาณ 8-24-24 หรือ 9-26-26 ใส่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผลในรุ่นที่ผ่านมา กล่าวคือ ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกมาก ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก ให้ใส่ในปริมาณทีมากขึ้น แต่ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกน้อยหรือไม่ติดผลเลย ให้ใส่ในปริมาณปานกลาง
    - การเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้น หมายถึง การให้อัตราเดิมแต่ระยะเวลาให้ถี่ขึ้น  เช่น จากเคยให้ 15 วัน/ครั้งก็ให้เปลี่ยนเป็น 10 วัน/ครั้ง

    - ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช.ต่อไปได้เลย แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง        


4.ปรับ ซี/เอ็น เรโช                  
       ทางใบ : ให้น้ำ 100 ล.+ 0-42-56(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 ห่างกันรอบละ 5-7 วัน  ฉีดพ่นพอเปียกใบ ระวังอย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้น จนกระทั่งต้นเริ่มเกิดอาการใบสลดหรืออั้นตาดอกดี
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
       ทางราก :              
     - เปิดหน้าดินโคนต้นโดยการนำอินทรีย์วัตถุคลุมโคนต้นออกให้แดดส่องได้ทั่วพื้นดินทรงพุ่ม
     - งดให้น้ำเด็ดขาด กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อจะต้องสูบน้ำออกให้หมด
     
หมายเหตุ :  วัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่ม” ปริมาณ ซี. (อาหารกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล) และปรับ “ลด" ปริมาณ เอ็น.(อาหารกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น)ซึ่งจะส่งผลให้ต้นออกดอกหลังการเปิดตาดอก

     - ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สดเพิ่มอีกแต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์ทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 30-45 วัน

     - ก่อนลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช จะต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศให้มั่นใจว่าระหว่างปรับ ซี/เอ็น เรโช จะไม่มีฝนตก เพราะถ้ามีฝนตกลงมา มาตรการงดน้ำก็ต้องล้มเหลว

     - ขั้นตอนการปรับอัตราส่วน ซี/เอ็น เรโช. สมบูรณ์หรือไม่ให้สังเกตจากต้น ถ้าต้นเกิดอาการใบสลดแสดงว่าในต้นมีปริมาณ ซี.มากส่วนปริมาณ เอ็น.เริ่มลดลง และความพร้อมของต้น (อั้นตาดอก) ก่อนเปิดตาดอก สังเกตได้จากลักษณะใบใหญ่หนาเขียวเข้ม
กิ่งช่วงปลายและใบกรอบเปราะ ข้อใบสั้น หูใบอวบอ้วน ตาดอกโชว์เห็นชัด

     - การให้สารอาหารทางใบซึ่งมีน้ำเป็นส่วนผสมนั้น อย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้นเพราะจะกลายเป็นการให้น้ำทางราก แนวทางปฏิบัติ คือ ให้บางๆเพียงเปียกใบเท่านั้น

     - เมื่องดน้ำ (ไม่รดน้ำ)แล้วต้องควบคุมปริมาณน้ำใต้ดินโคนต้นไม่ให้มากเกินไปโดยการทำร่องระบายน้ำใต้ดินหรือร่องสะเด็ดน้ำด้วย            

     - กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อต้องใช้ระยะเวลาในการงดน้ำนานมากกว่าสวนพื้นราบยกร่องแห้งจึงจะทำให้ใบสลดได้ อาจส่งผลให้แผนการผลิตที่กำหนดไว้คลาดเคลื่อน ดังนี้จึงจำเป็นต้องสูบน้ำออกตั้งแต่ก่อนปรับ ซี/เอ็น เรโช โดยกะระยะเวลาให้ดินโคนต้นแห้งถึงขนาดแตกระแหงและมีความชื้นไม่เกิน 10% ตรงกับช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช พอดี

     - มาตรการเสริมด้วยการ “รมควัน” ทรงพุ่มช่วงหลังค่ำครั้งละ 10-15 นาที
3-5 รอบห่างกันรอบละ 2-3 วัน จะช่วยให้การปรับ ซี/เอ็น เรโช สำเร็จเร็วขึ้น
     


5.เปิดตาดอก                
       ทางใบ :   สูตร 1....น้ำ 100 ล.+ 13-0-46(1 กก.)+ 0-52-34(500 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตจุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
       สูตร 2....น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. สาหร่ายทะเล 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 กรัม
       ทางราก :              
     - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้นเหมือนช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช      
     - ใส่ปุ๋ยทางรากสูตร 8-24-24 หรือ 9-26-26(1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน    
       
หมายเหตุ : 
     - เริ่มปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกดีทั่วต้นและสภาพอากาศพร้อม
     - ระหว่างสูตร 1-2 ใช้สลับกัน ห่างกันครั้งละ 5-7 วัน
     - การใช้สาหร่ายทะเลร่วมในการเปิดตาดอกจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อต้นเกิดอาการอั้นตาดอกเต็มที่
        ถ้าต้นอั้นตาดอกไม่เต็มที่ต้นจะแตกใบอ่อนแทน              
     - หลังจากเปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ สาเหตุมาจากตั้งแต่ช่วงเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อน
        ออกมาไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้นให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2
        รอบด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ      


6.บำรุงดอก    
       ทางใบ : ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ เอ็นเอเอ. 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียก ระวังอย่าให้โชกจนลงถึงพื้น
     - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน                
       ทางราก :              
     - ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น              
     - ใส่ 8-24-24 หรือ 9-26-26(1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
     - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน  
          
หมายเหตุ :                            
     - ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็นหรือระยะดอกตูมบำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1-2 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล....เพื่อความมั่นใจในเปอร์เซ็นต์หรือประสิทธิภาพของฮอร์โมน เอ็นเอเอ.  แนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.วิทยาศาสตร์แทนฮอร์โมน เอ็นเอเอ.(ทำเอง) ซึ่งจะได้ผลดีกว่าเพราะเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นแน่นอนกว่า

      - ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี  
          
      - ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อ
         ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่ว
          ทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้  
          
      - บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้
        แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้แบบเดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้
            
      - ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน                
      - ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสร
         เปียกจนผสมไม่ติดได้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่นช่วงหลังค่ำ
              
      - ระยะดอกบาน ถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะเวลาเปิดตาดอกให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ที่พื้นดินทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก.......มาตรการบำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอตั้งแต่ก่อนเปิดตาดอกจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก

      - การไม่ใช้สารเคมีเลยติดต่อกันเป็นเวลานานๆจนมีผึ้งหรือมีแมลงธรรมชาติอื่นๆเข้ามาจำนวนมาก  แมลงเหล่านี้จะช่วยผสมเกสรส่งผลให้ติดผลดกขึ้น

      - การบำรุงตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอกจนกระทั่งมีดอกออกมาควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ดีขึ้น        
7.บำรุงผลเล็ก             
        ทางใบ :  ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน
ฉีดพ่นพอเปียกใบ
      - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
        ทางราก :              
      - นำอินทรีย์วัตถุกลับเข้าคลุมโคนต้นให้เหมือนเดิม            
      - ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
      - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7(1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม -5 ม./ครั้ง/เดือน
      - ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน  
          
หมายเหตุ :                  
      - เริ่มปฏิบัติหลังจากกลีบดอกร่วง  หรือขนาดผลเท่าเมล็ดถั่วเขียว
      - เทคนิคการให้ปุ๋ยทางใบด้วยสูตร 15-45-15 ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับบำรุงดอกนั้นวัตถุประสงค์เพื่อให้ P.สร้างเมล็ดก่อนในช่วงแรก ซึ่งเมล็ดนี้จะเป็นผู้สร้างเนื้อต่อไปเมื่อผลโตขึ้น
       

8.บำรุงผลกลาง :                
        ทางใบ : ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
      - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
        ทางราก :              
      - ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14(1/2 กก)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./ครั้ง/เดือน
      - ให้น้ำปกติ  ทุก 2-3 วัน
             
หมายเหตุ :              
      - เริ่มลงมือบำรุงเมื่อเมล็ดเริ่มเข้าไคล  การที่จะรู้ว่าผลเริ่มเข้าไคลแล้วจะต้องใช้วิธีสุ่มเก็บผลมาผ่าดูเมล็ดภายใน              
      - การบำรุงระยะผลขนาดกลางต้องให้น้ำสม่ำเสมอแต่ต้องไม่ขังค้าง  ถ้าได้รับน้ำน้อยนอกจากจะทำให้ผลไม่โต  หากมีฝนตกหนักลงมาก็อาจจะทำให้ผลแตกผลร่วงได้
      - ถ้าติดผลดกมากควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน. 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดช่วงผลขนาดกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากแบกภาระเลี้ยงผลจำนวนมากบนต้น      



9.บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว                
        ทางใบ : ให้น้ำ 100 ล.+ 0-0-50(200 กรัม) หรือ  0-0-50 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.(เน้น กำมะถัน)+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. หรือ น้ำ 100 ล.+ มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยวฉีดพ่นพอเปียกใบ
      - ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร  ทุก 2-3 วัน              
        ทางราก :              
     - เปิดหรือไม่เปิดหน้าดินโคนต้นและนำอินทรีย์วัตถุออกหรือไม่ต้องนำออกก็ได้
     - ให้ 13-13-21 หรือ 8-24-24 (1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.

หมายเหตุ :              
     - เริ่มปฏิบัติก่อนเก็บเกี่ยว 10-20 วัน              
     - ช่วงผลแก่จัดใกล้หรือก่อนเก็บเกี่ยวต้องงดน้ำเพื่อให้เนื้อแห้งกรอบ สีและกลิ่นดี
     - การให้แคลเซียม โบรอน 1 ครั้งก่อนเก็บเกี่ยวจะช่วยป้องกันผลแตกผลร่วงได้ดี
     - การให้กำมะถัน 1 ครั้งก่อนเก็บเกี่ยวจะช่วยบำรุงผลให้สีของเปลือกสวย
     - การสุ่มเก็บผลลงมาผ่าพิสูจน์ภายในก่อนลงมือเก็บเกี่ยวจะทำให้รู้ว่าควรเก็บเกี่ยวได้แล้วหรือ
       ต้องบำรุงต่อไปอีกสักระยะหนึ่งจึงเก็บเกี่ยว
     - การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย 13-13-21 จะทำให้ต้นโทรม  หลังเก็บเกี่ยวผล
       สุดท้ายไปจากต้นแล้วต้องเร่งบำรุงเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นเรียกความสมบูรณ์กลับคืนมาทันที
     - การให้ 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นในต้นเดียวกันซึ่งนอกจากหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต
       จนหมดต้นแล้วต้นไม่โทรม ช่วยบำรุงผลรุ่นหลังต่อ และทำให้ต้นมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับให้
       ผลผลิตรุ่นปีต่อไปอีกด้วย