ทานตะวัน เป็นพืชฤดูเดียวมีระบบรากแก้วลึก ส่วนรากแขนงจะเจริญอยู่ในระดับ 30 เซนติเมตรจากผิวดิน มีลำต้นทรงสูง ใบใหญ่ เกิดสลับกันบนลำต้น มีการแตกแขนงของลำต้น สามารถให้ดอกได้ บ้านอะลาง ทานตะวันแต่เดิมเป็นพันธุ์ที่ใช้ปลูกต้องอาศัยแมลงช่วยผสมเกสร จึงทำให้ติดเมล็ดยาก ปัจจุบันมีพันธุ์ลูกผสม (แปซิฟิค 33, 44, 55, 29 และ77) เป็นพันธุ์ที่ติดเมล็ดได้ดี ไม่ต้องอาศัยแมลงช่วยผสมเกสร ทานตะวันเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพของเขตร้อนได้ดี และทนต่อสภาพแห้งแล้งและร้อนได้เป็นอย่างลักษณะพันธุ์ของทานตะวันลูกผสม มีอัตราการงอกสูงกว่า 80% เป็นทานตะวันพันธุ์ลูกผสม เก็บเกี่ยวได้ภายใน 95-120 วัน ให้ผลผลิต 250-400 กิโลกรัม/ไร่ เส้นผ่าศูนย์กลางจานดอก 16-20 เซนติเมตร สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดีเยี่ยม เพราะมีระบบรากลึกกว่า 3 เมตร (คุณสมบัติดังกล่าว ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์) บ้านอะลาง
ฤดูปลูก
การปลูกทานตะวันควรปลูกปลายฤดูฝน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ด้วย คือ ในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนเหนียวสีดำ ควรปลูกระหว่างเดือน กันยายน-พฤศจิกายน และในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนหรือดินร่วนทราย ควรปลูกระหว่างเดือน ปลายสิงหาคม–ตุลาคม ในกรณีพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ สามารถปลูกในฤดูแล้งได้อีกครั้งหนึ่ง โดยปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
การเตรียมดิน
การเตรียมดินมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผิวดินร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้สะดวก และสามารถเก็บรักษาความชื้นได้ดีรวมทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชในขั้นต้นอีกด้วย การไถเตรียมดิน ควรทำเมื่อดินมีความชื้นเพียงพอ ก่อนไถควรดายหญ้าให้เตียน หว่านปุ๋ยคอกอัตรา 1.5 กิโลกรัม/ไร่ แล้วทำการไถดะให้ลึกที่สุด หลังจากนั้นจึงทำการไถแปรให้พื้นที่เรียบสม่ำเสมอตลอดแปลง ถ้าแปลงเป็นที่ลุ่มน้ำขังควรทำร่องระบายน้ำรอบแปลง
วิธีการปลูก
การปลูกทานตะวันให้ได้ผลดี ควรใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี และมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง เพื่อให้ได้ต้นทานตะวันที่แข็งแรงสมบูรณ์และมีจำนวนต้นต่อไร่ที่เหมาะสม โดยปลูกทานตะวันขณะที่มีความชื้นในดินพอดี หยอดเมล็ดพันธุ์หลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะระหว่างหลุม40 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่องหรือแถว75 เซนติเมตร กลบดินหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร ให้แน่นพอสมควร หลังจากปลูกได้แล้ว 5-10 วัน ให้ตรวจดูความงอก จำนวนต้นต่อไร่ รวมทั้งการปลูกซ่อม หลังจากนั้น 5-8 วัน ทำการถอนแยกให้เหลือ 1 ต้น/หลุม โดยเลือกถอนต้นที่มีขนาดเล็กหรือผิดปกติกว่าต้นอื่น การปลูกในระยะดังกล่าว จะใช้เมล็ดพันธุ์ทานตะวันเพียง 0.8 กิโลกรัม/ไร่ และจะได้ต้นทานตะวันประมาณ 6,400-8,500 ต้น/ไร่
การใส่ปุ๋ย
ก่อนหยอดเมล็ดควรใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 หรือ 25-7-7 อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ อาจจะใช้ผงบอแร็กซ์ หรือโบรอน (B) อัตรา 2 กิโลกรัม/ไร่ ในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนทรายโดยหว่านให้ทั่วแปลงหรือผสมพร้อมปุ๋ยรองพื้น เมื่อทานตะวันอายุ 25-30 วัน ให้ทำรุ่นพูนโคนและกำจัดวัชพืชพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ห่างจากโคนต้น 20 เซนติเมตร (ระวังอย่าให้สัมผัสโดนใบ) เสร็จแล้วกลบปุ๋ยพูนโคนตามแถว
การกำจัดวัชพืช
ให้ใช้ยาคุมหญ้าประเภทอลาคลอร์ เมตลาคลอร์ อัตรา 300-400 ซีซี./ไร่ หรือ 7-8 ช้อนแกงต่อน้ำ 18-20 ลิตร (ในกรณีใช้ถังโยกหรือมือฉีด) ฉีดพ่นหลังหยอดเมล็ดก่อนที่เมล็ดจะงอกหรือใช้แรงงานจากเครื่องจักร หรือคนทำรุ่นตามความจำเป็น
ข้อควรระวัง ห้ามใช้ยาอาทราซีน.กับทานตะวันโดยเด็ดขาด
การเก็บเกี่ยว
เมื่อทานตะวันมีอายุได้ 95-120 วัน จานดอกจะเริ่มเปลี่ยนสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ให้เก็บเกี่ยวและตากแดดให้แห้ง 1-2 แดดก่อน แล้วจึงนวดโดยใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง หรือใช้เครื่องสีข้าวฟ่างก็ได้แล้วแต่ความสะดวก ควรทำความสะอาดเมล็ดให้ดีและเก็บไว้ในยุ้งฉางที่ป้องกันแดด กันฝน และแมลงศัตรูได้ ความชื้นของเมล็ดที่จะเก็บไว้ควรไม่เกิน 10%
โรคและแมลงศัตรูทานตะวัน
ในประเทศไทย ปัญหาโรคและแมลงศัตรูของทานตะวันพบน้อยแต่บางครั้งอาจมีปัญหาต่างๆ ดังนี้
ปัญหาเรื่องเมล็ดเน่าเสียหาย เนื่องจากทานตะวันดอกค่อนข้างใหญ่ เมื่อเวลาเมล็ดแก่ จานดอกจะห้อยลง และด้านหลังของจานดอกเป็นแอ่งเหมือนกระทะก้นแบน เมื่อมีฝนตก น้ำฝนจะขังอยู่ในที่ดังกล่าว ทำให้เกิดการเน่าขึ้นเป็นส่วนมากและเมล็ดเสียหาย ป้องกันโดยการปลูกทานตะวันปลายฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-มกราคม โดยที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน, ธันวาคม, มกราคม, กุมภาพันธ์ และมีนาคม และช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวมีฝนน้อยทำให้ได้เมล็ดทานตะวันมีคุณภาพดี
แมลงที่สำคัญ ได้แก่
ผีเสื้อกลางคืน > มักเข้าทำลายเมื่อทานตะวันดอกบาน ป้องกันโดยใช้ยาฟูราดาน F4, ไพดริน
เพลี้ยจักจั่น แมลงหวี่ขาว และแมลงมวนเขียวข้าว > มักเข้าทำลายเมื่อทานตะวันอายุได้ 40-45 วัน ป้องกันโดยใช้ยาอะโซดริน อัตรา 15 ซี.ซี./ไร่ น้ำ 20 ลิตร หรือใช้เซพวิน 3 ช้อนแกง/ไร่ น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น
การทำลายของนก > ป้องกันได้โดยการปลูกทานตะวันในฤดูฝน เนื่องจากอาหารในธรรมชาติของนกมีมาก จึงไม่ทำลายทานตะวัน เรียบเรียงใหม่โดยเกษตรบ้านอะลาง