การปลูกหางไหลหรือต้นโล่ติ๊น
ใช้หางไหลกำจัดศัตรูพืช วิธีการดั้งเดิม มทร.ล้านนาพร้อมสนับสนุนเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกนำไปใช้กำจัดแมลงหางไหล หรือ ต้นโล่ติ๊น เป็นไม้เลื้อยที่เจริญเติบโตได้เร็ว สามารถปลูกได้ทั้งในที่ร่มเงาและกลางแจ้ง รากมีปมแบคทีเรียเหมือนกับรากพืชตระกูลถั่ว หางไหลมีทั้งสีแดงที่เรียกว่าหางไหลป่า และหางไหลสีขาวเรียกว่าหางไหลปลูก และเป็นชนิดที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกนำไปใช้กำจัดแมลง จากการทดสอบของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
พบว่าสามารถกำจัดเห็บวัว ไรไก่ หากใช้ในแปลงพืชผักสามารถกำจัดด้วงหมัดผัก ด้วงเต่าแดง เพลี้ยไฟมะเขือเทศ ไขขาวพริก ด้วงงวงกัด ใบมะม่วง เพลี้ยจักจั่นและเพลี้ยอ่อนผักกาด ส่วนหนอนผีเสื้อจะมีผลยับยั้งการกิน วิธีทำสารสกัดจากหางไหล เกษตรกรสามารถทำได้เองใช้รากสดประมาณ 200-300 กรัมนำมาทุบให้เนื้อไม้แตก แช่ในน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ 24 ชั่วโมง จึงกรองเอาน้ำไปใช้ หรือทำให้รากหางไหลเป็นผงแห้งก่อนเพื่อจะได้เก็บไว้ได้นาน เมื่อจะทำการสกัดโดยใช้แอลกอฮอล์ ใช้หางไหลผงอัตรา 200 กรัมต่อแอลกอฮอล์ 1 ลิตร
แช่ไว้อย่างน้อย 5 วัน จากนั้นจึงนำมาเก็บไว้ในขวดสีชาจะเก็บรักษา
ไว้ได้นานประมาณ 8 เดือน
เมื่อจะนำมาใช้ต้องทำให้เจือจางโดยใช้สารสกัด 200-300 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร วิธีการใช้สารสกัดฉีดพ่นควรฉีดในช่วงเช้าหรือเย็น และพ่นให้ถูกตัวแมลง การปลูกหางไหล ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะเก็บเกี่ยวได้ปลายฤดูฝน ดินมีความชื้นทำให้ขุดรากได้ง่าย ระยะที่ปลูกใหม่ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นหางไหลตั้งตัวได้แล้วจะทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร เจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูง สถาบันวิจัยฯ ได้ทดลองปลูกในถังซีเมนต์และใช้ระบบน้ำหยดทำให้หางไหลเจริญเติบโตได้เร็ว สามารถเก็บเกี่ยวรากได้ภายใน 12 เดือน มีปริมาณสารโรติโนนเพียงพอที่จะ นำมาสกัดเป็นสารกำจัดแมลง ผลผลิตน้ำหนักรากสดที่ได้เฉลี่ยประมาณ 370-530 กรัมต่อต้น
หากปลูกในแปลงจะได้รากสดประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น การปลูกในสภาพกลางแจ้งควรปลูกระยะชิด ระยะปลูก 1x1 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หากต้องการใช้ปริมาณมาก การขุดรากนำมาใช้ทั้งหมดเป็นรุ่นๆ ทั้งแปลงแล้วทำการปลูกใหม่ หากเกษตรกรปลูกไว้ใช้เองตามริมรั้วควรทยอยขุดแบ่งรากมาใช้ เกษตรกรที่ปลูกพืชผักประมาณ 1 งาน ปลูกหางไหลประมาณ 150-200 ต้นจะเพียงพอต่อการใช้ 1 ฤดูกาล การขยายพันธุ์หางไหล สามารถขยายพันธุ์ด้วยการปักชำโดยใช้กิ่งชำที่มีขนาดเส้นผ่า
ศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร ควรตัดใบออกให้หมด ใช้ฮอร์โมนช่วยเร่ง รากเพื่อทำให้มีจำนวนรากมากขึ้น การปักชำควรให้มีความชื้นสม่ำเสมอ หากปักชำในฤดูแล้งควรปักชำในถุงพลาสติก เพื่อรักษาความชื้นและควรฉีดสารป้องกันเชื้อราในถุงชำ ปักชำไว้นาน 45 วันจึงแยกกิ่งชำลงถุงดำ พักไว้ในที่ร่มรำไร รอจนกิ่งชำ มีความพร้อมที่จะย้ายลงปลูกในแปลงหรือภาชนะปลูก
นอกจากหางไหลใช้กำจัดแมลงแล้วเกษตรกรยังสามารถ ใช้สารสกัดจากพืชอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพได้ เช่น ดีปลี นำดีปลีมาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ใช้ดีปลีบดเป็นผง 200 กรัม แอลกอฮอล์ 1 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 วัน นำมาใช้ป้องกันแมลง ได้หลายชนิด ยาสูบ ใช้ยาสูบ 100 กรัมผสมกับน้ำ 10 ลิตร แช่นาน 1 คืน นำมากรองแล้วผสมกับสารจับใบ ช่วยกำจัดเพลี้ยอ่อนและเพลี้ยแป้ง หนอนตาย หยาก ใช้รากของต้นหนอนตายหยาก 200 กรัม แอลกอฮอล์ 1 ลิตร แช่ไว้นาน 5 วัน นำมา กรองแล้วผสมกับน้ำให้เจือจาง อัตรา 20 ซีซี.ต่อน้ำ 1 ลิตร สามารถกำจัดแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยจักจั่นมะม่วง หนอนผีเสื้อกินใบมะนาวและใบส้ม ฯลฯ ขณะนี้สถาบันวิจัยฯ ได้ผลิตสารสกัดจากพืชใช้ป้องกันกำจัดแมลงหลายชนิดไว้บริการแก่เกษตรกรเพื่อใช้ง่าย ราคาถูก เช่น D 1 ใช้กำจัดด้วง D 2 ใช้กำจัดเพลี้ย D 3 ใช้กำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืชอื่นๆ สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์ 08-9191-7283 หรือ ผศ.ดร.อรุณ โสตถิกุล 08-1387-7327