การเพาะเลี้ยงสาหร่ายไก

       การเพาะเลี้ยงสาหร่ายไก     

สาหร่ายน้ำจืดที่เป็นอาหารพื้นบ้านของคนแถบริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายใหญ่ทางเหนือของไทยที่รู้จักกันดีก็คือสาหร่ายที่เรียกกันว่า ไก ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวเป็นเส้นเหมือนเส้นผม และที่สำคัญคือสาหร่ายชนิดนี้เป็นอาหารชั้นดีของปลาบึก

  ปกติแล้วไกจะพบได้มากในช่วงฤดูหนาวและร้อน ซึ่งจะเจริญได้ดีในสภาพน้ำสะอาดใสและตื้น พอมีฝนตกลงมามาก ไกก็จะหายไป ดังนั้นในแต่ละปีจะมีไกให้เราหามาปรุงอาหารได้เพียง 3-5 เดือนเท่านั้น แต่ความที่ไกเป็นที่ต้องการของตลาดได้
                                                                                    ทั้งปี รวมทั้งตอนนี้ก็มีกิจการเลี้ยงปลาบึกซึ่งต้องการใช้ไกเป็นอาหารจำนวนมากจึงเกิดการเพาะเลี้ยงไกขึ้นมากลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งนำโดย รศ.ดร.ศิริเพ็ญ ตรัยไชยาพร เป็นหัวหน้าทีม ได้ร่วมกันศึกษาหาวิธีเพาะเลี้ยงไก โดยใช้น้ำทิ้งจากโรงอาหาร ซึ่งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ อยู่มาก มาเป็นเครื่องมือสำหรับเลี้ยงสาหร่าย โดยนำน้ำดังกล่าวมาผสมน้ำในอัตราส่วนต่างๆ กัน แล้วก็ไปเก็บสาหร่ายไกมาจากแม่น้ำน่าน ซึ่งปกติไกเหล่านี้จะเกาะอยู่บนก้อนหิน ก็เก็บมาทั้งก้อนหินแล้วมาลองเลี้ยงในอ่างแก้วเหมือนตู้ปลาขนาดใหญ่แล้วให้อากาศเหมือนการเลี้ยงปลาทั่วไป บ้านอะลาง

  เลี้ยงไว้อย่างนั้น 1 เดือน ก็พบว่าการใช้น้ำทิ้งที่ได้มาจากโรงอาหารโดยไม่ต้องนำมาผสมน้ำให้เจือจางเลย หรือผสมน้ำเพียง 20% ทำให้สาหร่ายไกเติบโตได้ดีที่สุด เพราะสาหร่ายได้อาหารจากน้ำทิ้งดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ในการเติบโต ผลผลิตที่ได้ก็มากเกือบครึ่งกิโลกรัมต่อตารางเมตร สรุปก็คือน้ำทิ้งที่ปกติจะต้องปล่อยลงท่อระบายน้ำ เมื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้ถูกทาง ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน


 อย่างในกรณีนี้ เมื่อนำน้ำทิ้งมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสาหร่าย ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้ และสร้างแหล่งอาหารสำหรับการเลี้ยงปลาบึก เหตุที่ไม่ได้แนะนำให้นำมาใช้เป็นอาหารของคนก็คงเป็นเพราะว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงนั้น ดูแล้วคงไม่เหมาะที่จะผลิตอาหารบริโภค แต่แนวคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงไกจนได้ผลเช่นนี้ ก็หมายความว่าถ้ามีการจัดระบบการเลี้ยงที่ได้สุขลักษณะ รวมทั้งใช้สารอาหารที่เหมาะสมเหมือนกับการปลูกผักแบบใช้สารละลายหรือไฮโดรโปนิกส์ ก็น่าจะได้ไกที่มีคุณภาพสูงและถูกสุขลักษณะที่สามารถนำมาใช้เป็นอาหารคนได้ทั้งปี แทนที่จะต้องรอเก็บจากธรรมชาติในบางฤดูเท่านั้น


 และที่สำคัญคือตอนนี้ความนิยมในการบริโภคไกก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น ไม่เฉพาะในหมู่คนพื้นบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำเท่านั้น แต่บรรดานักท่องเที่ยวที่ได้ไปเยือนเมืองน่านหรือเชียงราย เมื่อได้ลองชิมไกในรูปแบบต่างๆ แล้ว รู้สึกพอใจในรสชาติ และอีกอย่างหนึ่งคือคุณค่าทางอาหารของไกก็สูงมากด้วยเช่นกัน กลายเป็นอาหารสุขภาพอย่างดีอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของพื้นเมืองไทยเรา


 อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเพาะเลี้ยงสาหร่ายไก โดยการใช้น้ำทิ้งจากโรงอาหารได้แล้ว เรื่องการพัฒนาต่อโดยใช้ความรู้ดังกล่าวต่อยอดต่อไปถึงการผสมสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ก็หวังว่าคณะนักวิจัยกลุ่มนี้คงจะช่วยกันพัฒนาต่อไป เพราะมีโอกาสสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรหรือคนที่อยู่ใกล้แม่น้ำได้สร้างรายได้เสริม หรือยิ่งไปกว่านั้นคือกลายเป็นอาชีพหลักก็เป็นได้ โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือความสะอาดและถูกสุขลักษณะ เพราะไกเมื่อเก็บจากธรรมชาตินั้น บางครั้งก็ยังมีทรายติดมาด้วย แต่หากเพาะเลี้ยงในสภาพที่เหมาะสมก็คงจะหมดปัญหาเรื่องนี้ไป และน่าจะเป็นการขยายตลาดไกให้กว้างขวางมากขึ้นได้ บ้านอะลาง  รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ