ดอกกระเจียว



       กระเจียว  ชนิดและพันธุ์      
พืชตระกูลกระเจียว ที่มีการส่งหัวพันธุ์ไปต่างประเทศมากที่สุด  คือ ปทุมมา รองลงมาคือ บัวลาย กระเจียวส้ม  และกระเจียวดอกขาว ตลาดต่างประเทศที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รวบรวมพันธุกรรมของกระเจียวเพื่อการศึกษาลักษณะต่าง ๆและศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ใหม่ในตลาดโลก ซึ่งไม้สกุลนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มปทุมมา ที่มีรายงานได้แก่ ปทุมมา บัวลายปราจีน บัวลายลาว บัวลายกาญจน์ บัวขาว
     บัวขาวดอกใหญ่ เทพรำลึก ทับทิมสยาม ปทุมรัตน์ ช่อมรกต
2. กลุ่มกระเจียว ได้แก่ บัวชั้น กระเจียวส้ม พลอยไพลิน พลอยทักษิณ พลอยชมพู
     และกระเจียวพื้นเมืองตามภาคต่างๆ  ของประเทศ

           การเตรียมแปลง         
ควรไถตากดินนาน 10 – 14 วัน   และโรยปูนขาวก่อนปลูก เพื่อช่วยลดปัญหาจากการเกิดโรค   ขนาดแปลง 1.5 เมตร  ระยะปลูก 30 X 30 เซนติเมตร จะปลูกได้ 4 แถว เพื่อสะดวกและง่ายต่อการดูแลรักษา การปลูก ควรรองพื้นด้วยปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 และโรยปุ๋ยรอบโคนต้นทุกเดือน ในอัตรา 0.5 – 1 ช้อนกาแฟต่อต้น (ช้อนปาดไม่ใช่ช้อนพูน)    ลักษณะการวางเหง้าปลูกแบบวางเหง้านอน   จะได้ช่อดอกมากกว่า   ทั้งนี้เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อผลิตช่อดอกและผลิตเหง้าในเวลาเดียวกัน

กระเจียวจะฟักตัวในช่วงอากาศแห้งแล้งและช่วงวันสั้นปกติเหง้าจะฟักตัวช่วงเดือนกันยายน และพร้อมจะงอกต้นใหม่อีกครั้งประมาณเดือนมีนาคม เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง ระบาย น้ำดี การปลูกในแปลงต้องใส่ปุ๋ยหมักในอัตรา 3-6 ตันต่อไร่ แปลงปลูกควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ไม่ ควรใช้มูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก เพราะจะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด เหมาะแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรียสาเหตุ โรคเน่า และควรโรยปูนขาวก่อนเตรียมแปลงปลูก ซึ่งจะทำให้ดินมีสภาพเป็นด่าง ช่วยลดโอกาศการเกิดโรคเน่า ดังกล่าว

สำหรับการปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติกควรใช้ดินผสมโดยใช้ทราย : ขุยมะพร้าว : ถ่านแกลบ อัตรา 2 : 1 : 2 และผสมทรายหยาบเพิ่มในอัตราส่วน 1 : 1 ช่วยเพิ่มการระบายน้ำให้ดีขึ้น การปลูกที่ทำให้เกิดการแตกกอได้ดีคือการปลูกให้ยอดของเหง้าชี้ลงดิน กลบหัวลึก 5 ซม. การปลูกด้วย วิธีนี้จะทำให้อิทธิพลการข่มของตายอดลดลงตามขวางของหัวพันธุ์ที่มีอยู่ 3 - 5 ตานั้นจะเจริญเป็นหน่อใหม่ได้ ทำให้เกิดยอดขึ้นจำนวนมากทรงพุ่มงดงามและเกิดดอกมากตามไปด้วย

การปลูกในกระถางนั้นควรปลูก 3 หัวต่อกระถาง แต่ถ้ามีหัวพันธุ์จำนวนน้อยให้ใช้วิธีผ่าหัวตามยาว ให้ หัวพันธุ์ทั้งสองซีกมีตาข้างติดอยู่ 1-2 ตา ทายาป้องกันเชื้อราหรือป้ายปูนแดงที่บริเวณรอยแผล แล้วนำชิ้นพันธุ์ ทั้งสองไปแยกปลูก ให้รอยแผลหันขึ้น จะมีโอกาสมากที่สุด พืชสกุลนี้มีปริมาณความต้องการน้ำที่ต่างกันคือชนิดที่มีใบค่อนข้างบาง จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่มี ความชื้นในอากาศสูง ส่วนพวกใบค่อนข้างหนาเจริญเติบโตใด้ดีในสภาพที่ความชื้นในอากาศต่ำควรรดน้ำวันละครั้งช่วงเช้า ยกเว้นวันที่ฝนตกการรดน้ำต้องมากเพียงพอที่จะทำให้ดินชื้นตลอดทั้งวันและแห้งก่อนหัวค่ำ

ควรพรางแสงลง 50-70 เปอร์เซ็นต์ ให้กับพวกที่มีใบบาง และประมาณ 30 - 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับพวกที่มีใบหนา ต้นที่ได้รับแสงน้อยลำต้นจะอวบอ้วนและสูง อ่อนแอต่อโรค และอาจทำให้ใบประดับเหี่ยวได้ง่าย แต่ถ้าแสงมากเกินไปจะทำให้ขอบใบไหม้ สีใบประดับซีดเร็ว ก้านช่อดอกสั้นและอ่อน หักล้มได้ง่าย

การให้ปุ๋ย ควรให้เดือนละครั้ง โดยช่วงเริ่มปลูกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนหรือตัวหน้าสูง เช่น 21 - 7 - 14, 15 - 0 - 0 หรือให้สูตรเสมอ เช่น 16 - 16 - 16 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ เมื่อต้นโตแล้วก็ให้ปุ๋ยสูตรที่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูงเพื่อช่วยให้มีการสะสมอาหารไว้ในเหง้าและรากมากขึ้นทำให้เหง้ามีขนาดใหญ่สมบูรณ์ ซึงจะให้ดอกที่มีคุณภาพสูง เช่น สูตร 8 - 16 - 24, 14 - 14 - 21 โรยปุ๋ยรอบโคนต้น อัตรา 0.5 - 1 ช้อน หลังจากโรยปุ๋ยแล้วควรพรวนดินให้เมล็ดปุ๋ยแทรกตัวเข้าใกล้ระบบรากของพืช

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ยกเว้นฝนตก  ต้องดูแลเรื่องความชื้นในดินให้เพียงพอและสม่ำเสมอ การให้น้ำที่ดีไม่ทำให้ดอกเสียหายคือการให้นำแบบสปริงเกลอร์และคลุมด้วยฟางเพื่อช่วยรักษาความชื้น หลักจากที่ปทุมมาเติบโตเต็มที่ ออกดอก จนกระทั่งดอกโรย ใบโทรมและเหลือง
จนถึงช่วงที่ใกล้ลงหัวแล้ว ช่วงนี้เริ่มงดน้ำ เพื่อให้ต้นยุบตัวและทำให้เก็บผลผลิตได้เร็วจึ้น


  การขยายพันธุ์ทำได้ 2 วิธี  
1. การเพาะเมล็ด เนื่องจากว่าพืชสกุลนี้มีการพักตัวโดยธรรมชาติ จึงควรนำเมล็ดไปเก็บไว้ก่อน แล้วนำมาเพาะในฤดูปลูกถัดไป (ราวกลางเดือนเมษายน เป็นต้นไป) กระเจียวหลายชนิดติดเมล็ดได้ง่ายตามธรรมชาติ จึงสามารถนำเมล็ดมาเพาะได้แต่จะพบความแปรปรวนของต้นกระเจียวในการขยายพันธุ์แบบนี้ เพราะเมล็ดที่ได้อาจเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ตามธรรมชาติ

2. การแยกหัวปลูก เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมปฏิบัติ ช่วงฤดูปลูกที่เหมาะสม คือ ในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากสามารถให้ดอกได้เร็ว

3. การผ่าเหง้าปลูก เป็นวิธีการเพิ่มชิ้นส่วนของหัวพันธุ์ให้มากขึ้น โดยผ่าแบ่งตามยาวเป็น 2 ชิ้น เท่าๆ กัน     แนวการผ่าจะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างตาที่อยู่สองข้างของเหง้า ชิ้นเหง้าที่ได้ควรมีตาข้างทีสมบูรณ์ไม่น้อยกว่า 1 ตา และมีรากสะสมอาหารติดมาด้วยอย่างน้อย 1 ราก วิธีนี้จะเป็นการประหยัดค่าหัวพันธุ์เริ่มต้น แต่เกษตรกรไม่นิยมเนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคเข้าทำลายบริเวณบาดแผล

 4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ   เป็นการเลี้ยงจากส่วนของช่อดอกอ่อนที่ได้จากต้นที่ไม่เป็นโรค   และยังมีกาบใบห่อหุ้มอยู่จะดีที่สุด  มีข้อดีคือปราศจากเชื้อ   หรือมีการปนเปื้อนน้อย เปรียบเทียบกับการใช้ชิ้นส่วนจากหัว    จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราสูงมาก ต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะใช้เวลาประมาณ 1 ½ - 2 ปี ที่จะให้ดอกและหัวพันธุ์ที่ได้คุณภาพ

                    โรคและแมลงศัตรู                  
โรคที่สำคัญคือโรคหัวเน่า ใบจุด และใบใหม้   ซึ่งจะระบาดช่วงฝนตกชุก  แต่ไม่พบแมลงศัตรูสำคัญ  โรคเน่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของพืชสกุลนี้   โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum      ซึ่งเป็นเชื้อโรคเหง้าเน่า เชื้อนี้เติบโตได้ดีในดินที่มีสภาพเป็นด่างโรคนี้เป็นปัญหาสำคัญในการป้องกันกำจัด  เนื่องจากเชื้อนี้สามารถพัฒนาพันธุ์ให้ต้านทานสารเคมีได้เร็ว มีพืชอาศัยหลายชนิดและยังสามารถพักตัวอยู่ในดินได้นานนับปี   ลักษณะอาการของโรค ระยะเริ่มแรกใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ จะเหี่ยวตกลู่ลง  ต่อมาจะม้วนเป็นหลอดและเหลือง  ลามจากล่างขึ้นไปยังส่วนบน จนเหลืองแห้งตายทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่มีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำจะเน่าเปื่อยหักหลุดออกจากหัวได้ง่ายเมื่อผ่าต้นดูจะเห็นข้างในเป็นสีคล้ำหรือน้ำตาลเข้มและมีเมือกเป็นของเหลวสีขาวข้น   ซึมออกมาตรงรอยแผล  หัวอ่อนที่เป็นโรคจะมีรอยช้ำฉ่ำน้ำ  เมื่ออาการรุนแรงขึ้นหัวจะเปื่อยยุ่ยและสีคล้ำขึ้น    เมื่อผ่าหัวจะพบรอยคล้ำเป็นสีม่วงน้ำเงินจาง ๆ   จนถึงสีน้ำตาลและมีเมือกสีขาวซึมออกมาตรงรอยแผล  พืชอาศัยของเชื้อ Pseudomonas solanacearum    เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคเหี่ยวกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดในเขตร้อน   เขตกึ่งร้อน   และเขตอบอุ่น      ได้แก่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ มะเขือ พริก ถั่วลิสง พริกไทย กล้วย ขา ขิง ต้นสัก มะกอก หม่อน มันสำปะหลัง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังสามารถเกาะกินพักตัวกับพืชนอกฤดูปลูก วัชพืชมากกว่า 64 ตระกูล และไม้ดอกอีกหลายชนิด

                ความต้องการของตลาด              
ในการส่งออกปทุมมาสามารถส่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ รูปของหัวพันธุ์และไม้ตัดดอกส่วนใหญ่ปทุมมาจะส่งออกในลักษณะของหัวพันธุ์มาตรฐาน
หัวพันธุ์ปทุมมาที่ส่งออก ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 นิ้ว  มีตุ้มอาหารตั้งแต่ 4 ตุ้มขึ้นไป ตุ้มต้องไม่หัก  ไม่เป็นโรค    และต้องทำความสะอาดไม่มีดินติดไป สำหรับไม้ดอกกลุ่มปทุมมามีข้อได้เปรียบตรงที่ก้านช่อดอกยาว  ช่อดอกชูเหนือทรงพุ่ม น้ำหนักน้อย ขนส่งง่าย อายุการใช้งานค่อนข้างทน จึงได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ และมีการส่งออกมากที่สุดในสกุลขมิ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น ชอบโทนสีชมพูหวานๆ จะเป็นผู้สั่งซื้อรายใหญ่  พันธุ์การค้าในขณะนี้มีเพียงพันธุ์เดียวคือพันธุ์เชียงใหม่  ซึ่งมีใบประดับสีชมพู  ถ้าไม่มีแต้มสีน้ำตาลที่ปลายกลีบ     ตลาดจะมีความต้องการสูง ลักษณะพันธุ์ที่ต้องการเพื่อใช้เป็นไม้ตัดดอก  คือ ต้องมีก้านดอกแข็งแรง แต่ไม่อ้วนจนเกินไป จำนวนกรีบรองดอกมีมากพอสมควร คือ10 - 14 กลีบ และมีสีกลีบประดับบริสุทธิ์ ลักษณะพันธุ์ที่ต้องการเพื่อทำเป็นไม้กระถาง คือ ลักษณะก้านดอกค่อนข้างสั้น  เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้าย  และไม่ล้มง่าย ใบสวย  สามารถให้ดอกพร้อมกันในกระถางอย่างน้อย 3 ดอก อายุการให้ดอกนาน

          การเก็บเกี่ยวและการบรรจุหีบห่อ        
การตัดดอกควรตัดดอกในระยะที่ดอกจริงบานแล้วทั้งหมด 3 – 5 ดอก  โดยให้ใบติดมาด้วย 1 – 2 ใบ ในกรณีปทุมมาพันธุ์เชียงใหม่ จะใช้เวลา 35 – 120 วัน หลังจากปลูก  ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพหัวพันธุ์ ควรเก็บเกี่ยวในตอนเช้า  และแช่โคนก้านช่อดอกในน้ำสะอาดทันที การเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ เมื่อใบ และลำต้นเตรียมแห้งและยุบตัวลง เหลือแต่เหง้าและตุ้มรากฝังตัวอยู่ในดิน  ในช่วงนี้ต้องเริ่มงดน้ำ  เพื่อให้หัวพันธุ์มีการสะสมอาหารที่หัวเต็มที่ และป้องกันไม่ให้เหง้าและรากสะสมอาหารเน่า  แต่ก่อนขุดควรรดน้ำจะช่วยให้ดินอ่อนตัวลงเพื่อความสะดวกในการขุด  และแยกหัวพันธุ์ที่ขุดได้ออกจากดินหลังจากขุดแล้วต้องนำไปล้างทำความสะอาด แล้วนำมาจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อราและแมลง ผึ่งบนตะแรกงในที่ร่ม  ระบายอากาศดีเพื่อให้ผิวนอกของเหง้าแห้งสนิท  การคัดขนาดหัวพันธุ์ส่งออก  แบ่งเป็น 3 เกรด คือ หัว กลาง ท้าย หัว คือ หัวพันธุ์ที่คัดเลือกว่ามีลักษณะดีเด่นที่สุด มีตุ้มอาหารมากว่า 4 ตุ้มอาหารขึ้นไป  มีน้ำหนักมาก   ซึ่งจะเก็บไว้เป็นหัวพันธุ์ต่อไป  กลางคือหัวพันธุ์ที่มีตุ้มอาหาร 3 – 4 ตุ้มอาหารขึ้นไป   สามารถส่งออกได้และท้ายคือหัวที่มีตุ้มอาหารน้อยกว่า 3 ตุ้ม  ไม่สามารถส่งออกได้   การบรรจุหีบห่อ เป็นแบบกล่องกระดาษ  ขนาดความสูงประมาณกล่องลำไย  ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองก้นกล่อง เจาะรูหัว – ท้าย และด้านข้างกล่อง เพื่อให้มีการระบายอากาศ

          ข้อควรรู้ในการปลูกดอกกระเจียว       
เนื่องจากปทุมมา เป็นพืชที่มีศักยภาพในการส่งออก สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายล้านบาท และมีแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้เกษตรกรสนใจหันมาปลูกกันมากขึ้น    จึงทำให้เกิดปัญหาในการส่งออกหัวพันธุ์     แต่เนื่องจากหัวพันธุ์มีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหัวเน่า  ประเทศผู้นำเข้าอาจงดการนำเข้าหัวพันธุ์จากประเทศไทย  กรมวิชาการเกษตร จึงได้มีข้อควรรู้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยมีข้อควรรู้แก่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก ควรนำไปปฏิบัติซึ่งอาจเป็นมาตรการสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอนาคต ดังนี้

การขึ้นทะเบียนผู้ปลูก  ผู้ส่งออกปทุมมา โดยผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้จะไม่สามารถส่งออกได้  และการตรวจสอบหัวพันธุ์ที่จะส่งออก เพื่อให้ใบรับรองปลอดโรค    รวมถึงการตรวจแปลงปลูกเป็นระยะๆโดยนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อที่จะให้ใบรับรองปลอดโรคแก่ผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตที่แจ้งควาจำนงไว้  นอกจากนั้น ผู้ผลิตหัวพันธุ์ปทุมมาเพื่อการส่งออก  จะต้องมีการปฏิบัติดูแลรักษาตามหลักมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด  เช่น ใช้หัวพันธุ์ปลอดโรค  การปฏิบัติดูแลแปลงตามมาตรฐานที่กำหนดอื่นๆ   ผู้เขียนหวังว่าเรื่องราวของปทุมมาที่นำมาฝากผู้อ่าน จะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกร หรือผู้ที่กำลังมองหาอาชีพด้านการเกษตร  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จะสามารถทำให้เกษตรกรมีทางเลือก จากข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอมาจะเห็นว่า   ปทุมมาเป็นดอกไม้ที่กำลังได้รับความนิยมไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีความนิยมในต่างประเทศอีกด้วย

จากตัวเลขความต้องการของดอกกระเจียวจะเห็นว่า   ความต้องการมีมากกว่ากำลังการผลิตนั้นแสดงว่า   ขณะนี้กระเจียวกำลังเป็นดอกไม้เศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มที่ดีในตลาดเกษตรกร      หรือผู้ใดสนใจหากจะหันมาปลูกกระเจียวควรจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจากนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร เริ่มตั้งแต่การปลูก ไปจนถึงการส่งออก เนื่องจากว่ามีขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย สุดท้ายกระเจียวจะเป็นดอกไม้ที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ที่ใครๆ  ไม่ควรจะมองข้ามจริง ๆ

ข้อมูล: บางส่วนจากกรมส่งเสริมการเกษตร และ หนังสือสารานุกรม "ไม้ประดับในประเทศไทย เล่ม1
ภาพ : จากอินเตอร์เน็ต