มะตูมซาอุ หรือมะตูมกินใบ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่



เกษตรบ้านอะลาง : ช่วงออกพรรษาผมมีโอกาสกลับไปทำบุญบ้านที่ศรีสะเกษ  เห็นป้าฝนที่บ้านปลูกต้นมะตูมกินใบไว้  หน้าตามันแปลกๆ  จากที่ผมได้นำมาลองทานดู  รสชาดอร่อยดี  กลิ่นหอมคล้ายกับมะม่วงอ่อน  ถ้ากินกับลาบ ก้อย ป่นปลา  เข้ากันดีนักแล  ร้านอาหารอีสานไม่ควรพลาด    ใครแวะไปแถวบ้านอะลาง  ลองเข้าไปหาป้าฝนดูตัวอย่าง  มะตูมซาอุได้    ตอนนี้ตลาดลาวที่คลองเตยขายกำละ 10-15 บาท  ราคาดีและยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกมาก   ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังมาแรงเวลานี้ครับ


มะตูมซาอุ มะตูมแขก (Brazilian Pepper-tree)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Schinus terebinthifolius

ถิ่นกำเนิด อยู่ในอเมริกาใต้แถบประเทศ บราซิล อาร์เจนตินาและปารากวัย  มะตูมซาอุ จัดเป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูงได้ถึง 10 เมตร มีกิ่งก้านมากจนมองไม่เห็นลำต้น ใบอ่อนมีสีแดง ขอบใบมีลักษณะเป็นหนาม ต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกกันคนละต้น ดอกออกเป็นช่อเล็ก ๆสีขาว ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน

ออกดอกได้ทั้งปี แต่พบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ผลเมื่ออ่อนมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อแก่ เนื่องผลมีสีสวยสดและออกได้ทั้งปี จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ ผลเมื่อแก่จัดเปลือกจะแห้งติดเมล็ดคล้ายพริกไทย รู้มาว่าชาวอเมริกาใต้ใช้ผลมะตูมซาอุแทนพริกไทยด้วย ชาวบ้านเรียกขาน "มะตูมซาอุ" พอ สอบถามที่มาที่ไปของต้นไม้ชื่อจากตะวันออกกลาง จึงได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาก คือ ชื่อของต้นไม้ได้มาจากลักษณะของต้น ผสมกับแหล่งที่มาของต้นไม้นี้ อธิบายขยายความได้ว่า คำว่ามะตูมมาจากลักษณะของใบที่มีรูปร่างคล้ายใบมะตูมแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก จึงเรียกว่ามะตูม ส่วนคำว่าซาอุเป็นแหล่งที่มา เนื่องจากมีชาวบ้านส่วนหนึ่งไปขายแรงงานที่ประเทศซาอุดิอารเบีย และพบพืชชนิดนี้ปลูกเป็นไม้ประดับจำนวนมาก

ชาวไทยผู้นิยมกินผักเคียงกับนํ้าพริก จึงลองนำเอาใบมากินเป็นผักสด กินแล้วได้รสชาติดี พอกลับบ้านเฮาแดนอีสาน ก็ติดไม้ติดมือนำเมล็ด(ไม่ใช่เพชร) กลับมาปลูกในประเทศไทย แล้ว
พากันตั้งชื่อไว้เป็นอนุสรณ์ว่า  "มะตูมซาอุ" เวลา ผ่านไปไม่นาน พบว่ามีกลุ่มคาราวานคนขายต้นไม้ในแถบอีสาน ได้นำกล้าของมะตูมซาอุมาจำหน่าย แต่เรียกชื่อใหม่ว่า "มะตูมบางเลน"ถ้าเห็นครั้งแรกอาจคิดว่าพืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มพืชตระกูลส้ม เพราะใบเมื่อนำมาถูขยี้มีกลิ่นหอมแรงคล้ายใบมะกรูด ลักษณะของใบและโครงสร้างของลำต้นคล้ายมะแขว่น แต่เมื่อให้นักพฤกษศาสตร์ตรวจสอบสายพันธุ์กลับพบว่า "มะตูมซาอุ" เป็นไม้ในกลุ่มไม้มะม่วง

การใช้ประโยชน์จากมะตูมซาอุมีหลากหลายมาก เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีนํ้ามันหอมระเหยหลายชนิด ประโยชน์หลัก ๆ ด้านยาได้แก่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ ซึ่งมีรายงานทางด้านวิทยาศาสตร์สนับสนุนในเรื่องนี้ นอกจากนี้พบว่าสารสกัดของมะตูมซาอุช่วยลดการอักเสบ ควบคุมการเต้นของหัวใจ ช่วยรักษาโรคความดันตํ่า แก้ท้องผูก กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อและรักษาบาดแผล

ทุกส่วนของไม้ชนิดนี้มีนํ้ามันและนํ้ามันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบ ซึ่งนํ้ามันเหล่านี้ก่อให้เกิดรสเผ็ดและมีกลิ่นหอม เนื่องจากส่วนของใบมีนํ้ามันเป็นองค์ประกอบสูงมากเมื่อนำไปใส่ในนํ้าร้อน ใบจะเต้นไปมาและบิดม้วนตัว ในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยนํ้ามันออก ส่วนของผลซึ่งมีรสเผ็ดร้อนเหมือนพริกไทยในประเทศเปรูใช้ผลิตนํ้าเชื่อม นํ้าส้มสายชู และอาหารว่าง ในประเทศชิลีใช้เป็นส่วนผสมของไวน์ และทำให้แห้งบดเป็นผงใช้แทนพริกไทย

มะตูมซาอุเป็นพืชที่มีประวัติศาสตร์การใช้เป็นยาของชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ มาเป็นเวลาช้านาน ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ใช้เป็นยาสมานแผล ต้านแบคทีเรียและไวรัส หรือใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ในประเทศเปรูใช้นํ้ายางจากต้นเป็นยาระบายอ่อน ๆ และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนทั้งหมดของต้นใช้เป็นยาปฏิชีวนะ ส่วนของนํ้ายางที่แห้งแล้วเมื่อนำมารวมกับนํ้ามันหอมระเหยที่ได้จากใบใช้เป็น ยารักษาแผล

แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.plantgenetics-rspg.org/schoolbot_club/?name=webboard&file=read&id=76