การเพาะเห็ดนางรม




 ธรรมชาติของเห็ดนางรม
เห็ด นางรมในธรรมชาติจะเจริญบนไม้ที่มีชีวิตและเมื่อต้นไม้ตายเห็ดนางรมก็สามารถ เจริญเติบโตต่อไปได้อีกเห็ดนางรมจะเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตได้ดี ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดเล็กน้อยหรือมี pH 6.5-6.8 ฉะนั้น ในการผสมขี้เลื่อยหรือวัสดุที่ใช้ เพาะจึงไม่จำเป็นต้องใส่ปูนขาวลงไปอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ของเส้นใยเห็ดนางรมประมาณ 30-32องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะต่อการออกดอกของเห็ดประมาณ 25 องศาเซลเซียส

ส่วนประกอบของเห็ดนางรม

หมวก ดอกมีลักษณะคล้ายหอยนางรมหมวกดอกมีลักษณะแบนราบไม่เหมือนเห็ดฟาง กลางหมวกดอกมีลักษณะเป็นแอ่งหมวกดอกอาจมีสีขาวหรือสีเทาก็ได้ขึ้นอยู่กับสาย พันธุ์และลักษณะของหมวกดอกอาจเป็นเนื้อเดียวกับก้านดอก ก้านดอกเป็นส่วนที่ใช้ชูดอกขึ้นไปในอากาศ ก้านดอกค่อนข้างจะสั้นและเจริญเข้าหาแสงสว่าง ครีบดอก มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆสีขาวหรือสีเทาที่บริเวณครีบดอกเป็นแหล่งสร้างสปอร์

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรม

1.แสง สว่าง มีผลต่อการพัฒนาและเจริญเติบโตของดอกเห็ดมากเพราะแสงจะช่วยกระตุ้นในการรวม ตัวของเส้น ใยและการพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์ ถ้าได้รับแสงน้อยจะทำให้หมวกดอกมีขนาดเล็กลงและก้านดอกยาวขึ้นและถ้าแสงน้อย มากๆจะทำให้ดอกเห็ดมีลักษณะผิดปกติไปดังนั้นในการเพาะเห็ดนางรมควรให้เห็ด ได้รับแสงอย่างน้อย 15-20 นาทีต่อวัน

2. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามปกติจะมีผลในการเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด นางรมแต่ในระยะที่เห็ดพัฒนาเป็นดอกถ้ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงก็จะ ทำให้ดอกเห็ดผิดปกติได้ดังนั้นควรทำให้โรงเรือนมีอากาศถ่ายเทได้บ้าง

3. ความชื้นของอากาศมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดนางรมอย่างมากโดยเฉพาะ ระยะเปิดดอกเห็ดนางรมต้องการความชื้นค่อนข้างสูงประมาณ 70-80 %จึงควรรดน้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน

4. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดนางรมอย่างมากเห็ดนางรมจะให้ ผลผลิตสูงในช่วงอุณหภูมิ 24-33 องศาเซลเซียสจากการศึกษาพบว่าถ้าก้อนเชื้อได้ผ่านอุณหภูมิต่ำประมาณ 20 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 18-21 วัน ก่อนนำมาเปิดดอกที่อุณหภูมิ 26-30 องศาเซลเซียสจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี

การผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางรม

ใน การเพาะเห็ดนางรมในถุงพลาสติกนั้น ผู้ผลิตสามารถนำเอาวัสดุเหลือ ใช้ในท้องถิ่นมาใช้ในการเพาะเห็ดได้ เช่น  ฟางข้าวสับ ซังข้าวโพด ขี้เลื่อยไม้ยางพารา เป็นต้น โดยทั่วไปนิยมใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะ เพราะสามารถหาได้ง่ายสะดวกในการบรรจุ และสามารถนำมาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการหมักสำหรับสูตรอาหารที่ใช้ในการเพาะเห็ดนางรมนั้นมี หลายสูตร คือ

สูตร 1 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม น้ำสะอาด 65-70 %

สูตร 2 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 3-5 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.5 กิโลกรัม น้ำสะอาด 65-70 %

สูตร 3 ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 ส่วนโดยปริมาตร รำละเอียด 8 ส่วนโดยปริมาตร แป้งข้าวเจ้าหรือน้ำตาลทราย 2-3 ส่วนโดยปริมาตร กากถั่ว 2 ส่วนโดยปริมาตร หินปูน 2-3 ส่วนโดยปริมาตร น้ำสะอาด 70-75 %

หมาย เหตุ ในการเลือกใช้สูตรต่างๆนั้นต้องคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตด้วย การเพิ่มปริมาณของอาหารเสริมมากๆนั้น ถึงแม้จะเป็นการเพิ่มผลผลิตก็ตาม แต่โอกาสที่ก้อนเชื้อจะเสียหายหรือ ถูกทำลายจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นก็มีมากเช่นกัน

ขั้นตอนการเตรียมก้อนเชื้อ

1. นำส่วนผสมต่างๆมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน

2. เติมน้ำลงไปผสม ควรผสมให้ความชื้นกระจายให้ทั่วสม่ำเสมอ ทดสอบให้ได้ความชื้นประมาณ 65-75 % โดยใช้มือกำส่วนผสมขึ้นมาแล้วบีบดู ถ้ามีน้ำซึมออกมาแสดงว่าชื้นเกินไปให้เติมขี้เลื่อยลงไป

ถ้าไม่มีน้ำซึมออกมาให้แบมือออก ส่วนผสมจะจับกันเป็นก้อนและแตกออก 2-3 ส่วนแสดงว่าใช้ได้

3. บรรจุใส่ถุงพลาสติกทนร้อนที่ใช้เพาะเห็ด ถุงละประมาณ 8-10 ขีด อัดให้แน่นพอประมาณใส่คอขวดพลาสติก หุ้มด้วยสำลีและกระดาษ

4. นำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่งที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส (น้ำเดือด)นาน 3-4 ชั่วโมง

5. หลังจากนึ่งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วใส่เชื้อลงไป นำก้อนเชื้อไปบ่มในที่มืดและอุณหภูมิสูงประมาณ 28-35 องศาเซลเซียส เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของเส้นใย เส้นใยเห็ดจะเจริญเต็มถุงประมาณ 3-4 สัปดาห์

6. เมื่อเส้นใยเดินเต็มถุงแล้วให้พักก้อนเชื้อระยะหนึ่ง เพื่อให้เส้นใยสะสมอาหารและพร้อมจะ เจริญเป็นดอกเห็ดแล้วนำไปเปิดดอกในโรงเรือนต่อไป ดูรายละเอียด การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก

การเปิดถุงก้อนเชื้อเห็ดนางรม

ทำได้ 4 วิธี คือ

1. การเปิดปากถุงโดยการม้วนปากถุงลง โดยการดึงคอขวดออก พร้อมกับม้วนปากถุงลงไปจนถึงก้อนเชื้อ แล้วนำไปวางบนชั้นภายในโรงเรือน ข้อเสียของการเปิดถุงโดยวิธีนี้คือ โอกาสที่น้ำจะขังในถุงและทำให้ก้อนเชื้อเสียมีมาก

2. การเปิดปากถุงโดยใช้มีดปาดปากถุงบริเวณคอขวดออก แล้วนำไปวางบนชั้นเพาะเห็ด วิธีนี้มีข้อเสียคล้ายกับวิธีแรก

3. การกรีดปากถุงโดยใช้มีดคมๆ กรีดข้างถุงเป็น 4 แนว แล้วนำไปวางตั้งหรือแขวนในแนวตั้ง ข้อเสีย คือ เปลืองเนื้อที่ในการวางก้อนเชื้อ

4. ดึงจุกสำลีออกแล้วนำก้อนเชื้อมาวางเรียงซ้อนกันภายในโรงเรือน ให้เห็ดเจริญออกมาทางปากถุงทางเดียว เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากเพราะประหยัดเนื้อที่ภายในโรงเรือนและน้ำไม่ขังใน ก้อนเชื้อ ดูรายละเอียด การเปิดดอกเห็ดนางรม-ฮังการี

ปัญหาที่พบในการเพาะเห็ดนางรม

1. เส้นใยไม่เดินลงถุงก้อนขี้เลื่อย ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุ คือ

-หัวเชื้อเห็ดเป็นเชื้ออ่อน หรือเชื้อเห็ดนั้นผ่านการแต่งเชื้อมาหลายครั้งแล้ว ทำให้เส้นใยอ่อนแอ

- หัวเชื้อเห็ดมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นปลอมปน และเจริญแข่งกับเส้นใยเห็ด

- วัสดุที่ใช้เพาะมีสารเคมีที่เป็น อันตรายต่อเห็ดโดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อรา ผู้เพาะควรเลือกวัสดุเพาะที่ปราศจาสารเคมีดังกล่าว

- สภาพความเป็นกรด-ด่าง(pH) ควรปรับให้อยู่ระหว่าง 6.5-6.8 จะช่วยให้เส้นใยเห็ดนางรมเจริญดีขึ้น

- ส่วนผสมมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เส้นใยเห็ดชะงักการเจริญเติบโต ในขณะที่สภาพดังกล่าวจะเหมาะต่อการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย

2. เส้นใยเดินบางมาก และเมื่อนำไปเพาะจะไม่ค่อยเกิดดอกหรือให้ผลผลิตน้อยมาก อาจมีสาเหตุจาก

- วัสดุที่ใช้เพาะสลายตัวเกือบหมดแล้ว ทำให้อาหารเหลืออยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย หรือใส่อาหารเสริมน้อยเกินไป ดังนั้นจึงควรใส่อาหารเสริมในอัตราส่วนที่เหมาะสม

- การนึ่งฆ่าเชื้อไม่ดีพอ ทำให้จุลินทรีย์อื่นๆเจริญเติบโตแข่งกับเห็ดได้ ดังนั้นการนึ่งก้อนเชื้อควรใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด

3. เส้นใยเห็ดเดินแล้วหยุด อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

- ถุงก้อนเชื้อมีความชื้นมากเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญได้ดี แล้วเชื้อเห็ดไม่สามารถเจริญเติบโตได้

- เชื้อเห็ดอ่อนแอ เมื่อเจริญได้ระยะหนึ่งแล้วก็ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นควรเลือกเชื้อที่แข็งแรง

4. เห็ดออกดอกช้าหลังจากเปิดถุงแล้ว อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

- เกิดจากการเปิดปากถุงเร็วเกินไป หลังจากเส้นใยเดินเต็มแล้ว ควรปล่อยให้เส้นใยรัดตัวและมีการสะสมอาหารก่อนเปิดถุงประมาณ 8-10 วัน

- การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนไม่ดี ทำให้มีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง

- อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงหรือต่ำเกินไปหรือความชื้นไม่เพียงพอทำให้การพัฒนาของเส้นใยไปเป็นดอกเห็ดช้า

5. ดอกเห็ดไม่พัฒนาเจริญเป็นดอกเห็ด ในการเพาะเห็ดบางครั้งมีดอกเห็ด เจริญเป็นดอกเล็กๆบนก้อนเชื้อเต็มไปหมด ดอกเห็ดพวกนี้มีขนาดเล็กและไม่เจริญ ต่อไปแต่ดอกเห็ดจะเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด

เกิดจาก

- หัวเชื้อเห็ดอ่อนแอทำให้ดอกเห็ดไม่สมบูรณ์

-การ เปิดปากถุงกว้างเกินไปทำให้เส้นใยเจริญไปเป็น ดอกเห็ดจำนวนมากและ อาหารภายในก้อนเชื้อไม่เพียงพอ ทำให้ดอกที่งอกออกมาแคระแกร็น และแห้งดังนั้นการเปิดปากถุงไม่ควรเปิดกว้างมากนัก

- ความชื้นไม่เพียงพอทำให้ดอกที่กำลังเติบโตแห้งได้

- รดน้ำมากเกินไป และรดไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำขังในถุงพลาสติก ทำให้เห็ดภายในถุงพลาสติกเน่าเสียได้

- เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายก้อนเชื้อหลังเปิดถุง เนื่องจากโรงเรือนสกปรก

- อาจมีแมลงเข้าไปกัด
และทำลายก้อนเชื้อ