การปลูกผักปลัง


      ลักษณะทั่วไปของผักปลัง     
ผักปลังเป็นไม้เลื้อย มีลำต้นกลมเป็นสีเขียวหรือสีม่วงแดง อวบน้ำ ไม่มีขนและสามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้มาก "บ้านอะลาง"

-ใบ ผักปลังมีใบลักษณะมัน รูปร่างกลมหรือเป็นรูปไข่เรียงสลับกัน แผ่นใบอวบน้ำ
       ขนาดใบกว้าง  2-6 เซนติเมตร และยาว 2.4 – 7.5 เซนติเมตร

-เถา มีลักษณะอวบน้ำและยาวได้หลายเมตรสามารถแตกกิ่งก้านสาขาได้มาก  นอกจากใบและยอด
        ของเถาที่นำมาปรุงกิน ก็ยังมีดอกผักปลังที่มีสีขาวหรือชมพูม่วง ไม่มีก้านดอก

-ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ตรงปลายแยกเป็นแฉก

 -ผล ผักปลังมีผลสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมดำเมื่อแก่  เนื้อผลนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำหรือสีขาว

        การปลูกและขยายพันธุ์      
ผักปลังเป็นพืชที่ปลูกง่ายเช่นเดียวกับผักพื้นบ้านทั่วไป ออกยอดเกือบตลอดปี ชาวบ้านภาคอีสานและภาคเหนือมักนำไปปลูกบริเวณรั้วบ้านเพื่อให้เถาผักปลังเลื้อยขึ้นตามรั้ว

ผักปลังขยายพันธุ์ได้ 2 วิธีคือการเพาะเมล็ดและการชำกิ่งแก่การเพาะเมล็ด  ทำได้โดยนำเมล็ดแก่ไปตากแห้งแล้วนำไปชำในถุงพลาสติกหรือกระถาง รอจนเกิดต้นอ่อนแล้วนำไปปลูกตามริวรั้วหรือสร้างค้างให้เลื้อยเนื่องจากเป็นพืชอุ้มน้ำจึงนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป


 ประโยชน์ต่อสุขภาพของผักปลัง 
ประโยชน์ทางอาหาร  "บ้านอะลาง"  คุณค่าทางอาหารของผักปลังนั้นมีมากทีเดียวเพราะมีวิตามินและเกลือแร่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ   สารบีตาแคโรทีน มีเมื่อกินเข้าในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินบำรุงสายตาได้ แล้วยังมีคุณสมบัติเป็นสารช่วยป้องกันมะเร็งด้วย

โดยทั่วไปเราจะนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนซึ่งมีรสจืดเย็น มากินในรูปผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือนำมาปรุงอาหารก็ได้ เช่น แกงต่างๆ (แกงส้ม แกงแค แกงปลา) ผัดกับแหนม หรือใส่แกงอ่อมหอย อีกด้วย


คุณค่าทางโภชนาการของผักปลัง 100 กรัม มีดังนี้
พลังงาน                 21           กิโลกรัม
เส้นใยอาหาร        0.8            กรัม
แคลเซียม           4                มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส            50            มิลลิกรัม
เหล็ก                     .5            มิลลิกรัม
วิตามินเอ             9,316       หน่วยสากล(IU)
วิตามินซี              26            มิลลิกรัม
วิตามินบีหนึ่ง       0.07         มิลลิกรัม
วิตามินบีสอง        0.20        มิลลิกรัม
ไนอาซิน               1.1          มิลลิกรัม



  ประโยชน์ทางยา  
-ก้าน  แก้พิษฝี พรรดึก ท้องผูก ลดไข้
-ใบ  ขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ กลาก น้ำคั้น จากใบใช้บรรเทาอาการผื่นคัน
-ดอก  แก้เกลื้อน
-ราก  แก้มือเท้าด่าง รังแค พิษพรรดี (อาการต่างๆ ที่เกิด จากท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ)


      งานวิจัยที่เกี่ยวกับผักปลัง     
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2555 นี้เองโดยนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Yaounde ในประเทศแคเมอรูน พบว่าสารสกัดเมทานอลจากผักปลังสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในเพศชายได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ศึกษากับเซลล์สืบพันธุ์ของหนูทดลองเท่านั้น ไม่ได้ทำการศึกษากับเซลล์สืบพันธุ์เพศชายในมนุษย์โดยตรง

        จากผลการวิจัยดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณในการส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone – boosting supplement) สำหรับลดการเป็นหมันและในงานวิจัยเดียวกันนั้นพบว่าสารสกัดเมทานอลของผักปลังที่ความเข้มข้น 10-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์

        นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการศึกษาความปลอดภัยโดยให้หนูทดลองกินสารสกัดเอทานอลของผักปลังขนาด 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว (1 mg/kg) นานติดต่อกัน 2 เดือน ไม่พบความเป็นพิษต่อตับและไตของหนู

     ปี 2555 นี้เช่นกัน ที่นักวิจัยอินเดียได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบผลของสารสกัดจากใบผักปลังด้วยเอทานอลและน้ำในหนูถีบจักร (mice) โดยกรอกสารสกัดน้ำของใบผักปลังขนาด 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวให้แก่หนูเป็นเวลา 14 วัน ไม่พบความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิทยา และสำหรับหนูขาว (Wistar rats) ที่กินสารสกัดใบผักปลังด้วยเอทานอล น้ำ และเฮกเซน ติดต่อกันนาน 7 วัน พบว่าหนูขาวที่ได้รับสารสกัดด้วยเอทานอลและเฮกเซนจากใบผักปลัง มีปริมาณน้ำย่อยอะไมเลส (amylase) เพิ่มขึ้น ซึ่งน้ำย่อยนี้ทำหน้าที่ย่อยแป้งในปากให้เป็นน้ำตาลมอลโทส (maltose) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการลดภาวะเสี่ยงเป็นเบาหวานได้

     สำหรับประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ได้ดำเนินโครงการวิจัยระหว่างปี 2552-2555 เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารแคลอรีต่ำจากเส้นใยอาหารในผักพื้นบ้าน โดยเลือกผักปลังเป็นวัตถุดิบในการวิจัย พบว่านอกจากจะเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังมีปริมาณเส้นใยอาหารสูงกว่าผักพื้นบ้านชนิดอื่น รวมทั้งสารสกัดจากผักปลังยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่น่าสนใจด้วย ดังนั้น วว.จึงจะต่อยอดผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : หนังสือนิตยสารหมอชาวบ้าน “ บทความพิเศษ ” ประจำเดือนมกราคม 2556